จากมู่หลานถึงเตียวเสี้ยน (4) ชะตากรรมของเตียวเสี้ยนหลังจากนั้น เรื่องราวของนางเตียวฉาน (เตียวเสี้ยน) หลังจากมรณกรรมของต่งจว๋อเป็นอย่างไร ในหนังสือสามก๊กฉบับยอดนิยมปัจจุบันคือเรื่องซานกว๋อเหยี่ยนอี้ไม่ได้กล่าว ไว้ จนกระทั่งใกล้วาระสุดท้ายของหลี่ว์ปู้ จึงปรากฏออกมาอีกในฐานะอนุภรรยาหลี่ว์ปู้ สรุปคือนางตกเป็นอนุภรรยาหลี่ว์ปู้เท่านั้น หลังจากหลี่ว์ปู้ถูกเฉาเชา (โจโฉ)กำจัดทิ้ง นางคงไม่พ้นต้องเป็นภรรยาของเฉาเชาอีก แต่เรื่องนี้ไม่ทราบเลย
ทว่าเรื่องได้แตกแขนงออกไปเป็นหลายตำนาน บ้างก็ว่าเตียวฉานมิได้มอบกายเป็นอนุภรรยา แต่ได้บวชชีหาความสุขจากรสพระธรรม บ้างก็ว่าแท้แล้วนางเป็นเทพธิดาที่มาช่วยกอบกู้มนุษย์ เมื่อเสร็จภารกิจนางก็เป็นกระเรียนเหินสู่เมฆลับไปบนสวรรค์ แต่มีอีกคติหนึ่งที่น่าสนใจ และเกิดขึ้นก่อนหนังสือสามก๊กฉบับปัจจุบัน ดังจะนำมาเล่าไว้ในที่นี้คือ
เมื่อหลี่ว์ปู้ถูกประหารชีวิต เฉาเชาได้ริบทรัพย์สินบุตรภริยา ในขณะนั้นสามพี่น้องหลิวเป้ย กวานอวี่ จางเฟย (เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย) ก็อาศัยอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเฉาเชา (โจโฉ) จางเฟยคิดจะขอเตียวฉานให้หลิวเป้ย แต่กวานอวี่ไม่เห็นด้วย เพราะเขาคิดว่านางเตียวฉานเป็นปีศาจทานุกิ (ภาษาจีนกลางเรียกว่าหูหลี่ ตรงกับตัวทานุกิของญี่ปุ่นที่ชอบแปลงกายหลอกชาวบ้าน) ซึ่งจะทำให้ชายที่ได้เสพสมกับเธอเกิดความฉิบหาย นับแต่ต่งจว๋อและหลี่ว์ปู้เป็นต้นมา เขาต้องการพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือไม่ ตัวทานุกินั้นเมื่อพระจันทร์เต็มดวงก็มักจะออกมาชมจันทร์ หากใช้อาวุธสับฟันที่เงาร่างใต้แสงจันทร์ ก็จะหมดฤทธิ์ และตายไป กวานอวี่รอจังหวะคืนจันทร์เพ็ญ นางเตียวฉานมาชมจันทร์ตามคาดหมาย จึงลอบเอาง้าวสับตรงบริเวณคอของเงาร่างที่ฉายมาบนพื้น นางเตียวฉานก็ล้มลงสิ้นใจตายจริงๆ ตกลงว่านางเป็นทานุกิตามที่คิดไว้
ยังมีบางคติซ้ำร้ายกว่านั้นอีก คือกวานอวี่ไม่ได้คิดว่านางเป็นปีศาจ และไม่ได้ฆ่านางเพื่อหลิวเป้ย แต่เล่าว่านางมายั่วยวนกวานอวี่โดยตรงเลย ซึ่งเขาเป็นคนมีคุณธรรมไม่ตกหลุมพรางล่อลวงของสตรีเพศ จึงเอาง้าวฟันนางคอขาด คตินี้ไม่ใคร่ยอมรับกัน เพราะว่ากวานอวี่ซึ่งกลายสภาพมาเป็นเทพเจ้ากวนอูในภายหลังดูจะโหดร้ายเกินไป ถ้าทำอย่างว่าจริง แต่ก็พิสูจน์ได้ว่า คนทั่วไปมีความคิดว่า ถ้าคนที่มีคุณธรรมแล้ว เขาไม่ยุ่งกับผู้หญิง
นิทานนางเตียวเสี้ยนเล่าสืบกันมา ถึงแม้ว่าเสียงเล่าลือถึงเธอจะเป็นทางบวก ยอมรับชื่นชมในความเสียสละ แต่ลองพิจารณาประกอบกับเรื่องมู่หลาน พินิจดูให้ดีๆ จะพบว่า การมีชื่ออยู่ในตำนานหรือประวัติศาสตร์นั้น หญิงทำได้เพียงหากไม่ปลดเปลื้องอัตลักษณ์สตรีออกต่อสู้เยี่ยงบุรุษ ดังเช่นวีรสตรีมู่หลาน, โจน ออฟ อาร์ค, สุริโยทัย (ซึ่งเอาเข้าจริงก็สู้ปกป้องผัว) ฯลฯ ก็คงจะต้องใช้เรือนร่างและจริตมารยาเข้าเกี่ยวข้อง พูดง่ายๆ คือ เรื่องเพศนั่นเอง ที่จะเป็นอาวุธให้ชายสยบยอมได้ ความจริงเตียวเสี้ยนเองก็ไม่ได้ต่างจากหญิงงามล่มเมืองคนอื่น ที่ถูกใส่ร้ายด่าว่าแต่อย่างใด แต่การที่เธอถูกยกย่อง เพราะเธอประกอบด้วยจิตคิดกู้ชาติ นั่นคืออุดมการณ์ที่ถูกปลูกฝังและผูกติดไว้กับเพศชายเช่นเดียวกัน ถึงแม้แสดงออกด้วยความเป็นหญิง แต่เบื้องหลังทางความคิดก็ไม่พ้นที่จะต้องถูกนำไปกล่าวสรรเสริญในฐานะผู้ เด็ดเดี่ยวมีน้ำใจรักชาติเยี่ยงบุรุษ
จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า สังคมโลกนี้จะมีพื้นที่ให้บันทึกเรื่องราวของสตรีจริงๆ เอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์บ้างหรือไม่? เรื่องราวของสตรีที่ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับค่านิยมบุรุษ ไม่ต้องให้บุรุษกำหนดกรอบว่าอย่างไรเรียกว่าสตรีที่ดี และอย่างไรไม่ดี และไม่ต้องทำให้สตรีทอดทิ้งอัตลักษณ์ตนเอง ตกสู่กระแสหลักของพฤติกรรมเพศชาย เรื่องเช่นนี้จะมีได้หรือไม่