กลยุทธ์สยบมหาอำนาจ (3) : จากจุดจบเสฉวนสู่การพิชิตเมืองลุม-เมืองคัง ตำรา 36 กลยุทธ์กล่าวไว้ในบทที่ 8 ว่า “ในการศึก ใช้โอกาสที่ฝ่ายข้าศึกตัดสินใจจะรักษาพื้นที่ แสร้งทำเป็นจะโจมตีด้านหน้า แต่เข้าจู่โจมในพื้นที่ที่ข้าศึกไม่สนใจอย่างมิได้คาดคิด” หมายถึง เมื่อคู่ศึกทั้ง 2 ฝ่ายตั้งประจัญหน้ากัน จงใจสร้างเป้าหมายให้ฝ่ายตรงข้ามเพ่งเล็ง รอจนเมื่อฝ่ายตราข้ามวางกำลังใหญ่ป้องกันไว้ ณ ที่นั้นแล้ว จึงรุกรบโจมตีเอาเป้าหมายอื่น ซึ่งก็คือการใช้จุดอ่อนแห่งภาวะจิตมนุษย์ โจมตีในจุดที่ฝ่ายตรงข้ามมิได้คาดคิดมาก่อนแล้วมิได้ระมัดระวังตัว จึงได้มาซึ่งชัยชนะในการรุกรบ
ในสมัยสามก๊ก กองทัพใหญ่จากวุยก๊กซึ่งนำโดย แม่ทัพ จงโฮย และ เตงงายรองแม่ทัพ ที่นำทัพมาเพื่อพิชิตอาณาจักรจ๊กฮั่น โดยทั้งคู่ได้ตัดสินใจแยกกองทัพออกเป็นสองทัพเพื่อเข้าโจมตีเสฉวนทั้งสองทาง โดยทางนึงจงโฮยจะนำกองทัพเข้าตรึงกองทัพของเกียงอุยผู้เป็นศิษย์ของขงเบ้ง ส่วนอีกทางเตงงายได้นำกองทหารปีนหน้าผาที่อิมเป๋งเพื่อลอบเข้าโจมตีเฉิงตู เมืองหลวงของเสฉวนเพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางลัดที่สามารถโจมตีเสฉวนได้ง่าย และไร้กองกำลังป้องกันเป็นผลให้จ๊กก๊กของเล่าปี่และขงเบ้งที่พยายามสร้างมา อย่างยากลำบากต้องสิ้นสุดลง
ซึ่งแนวความคิดนี้ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในการทำสงครามโดยคนไทยเมื่อซัก ประมาณ 400 ปีก่อนในสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรยังทรงเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งกรุง ศรีอยุธยา โดยพระองค์ท่านได้อาสาพระราชบิดายกกองทัพไปช่วยพม่าทำศึกรบเมืองลุม-เมือง คัง โดยกองทัพที่ยกทัพไปตีเมืองลุมเมืองคังมีทั้งหมด 3 กอง อันได้แก่ กองทัพหงสาวดีนำทัพโดยพระมหาอุปราชมังกะยอชะวา กองทัพเมืองตองอูนำโดยพระสังขทัต และกองทัพอยุธยานำโดยสมเด็จพระนเรศวร
โดยเมื่อยกทัพไปถึงเมืองลุมเมืองคัง ได้มีการวางแผนกันว่าจะสับเปลี่ยนกันโจมตีกองทัพละวัน โดยที่ประชุมกองทัพมีมติให้กองทัพหงสาวดีเข้าตีก่อน โดยกองทัพหงสาวดีได้ยกทัพเข้าโจมตีในเวลากลางคืน แต่ถูกกองทัพเมืองลุมเมืองคังกลิ้งหินลงมาดั่งสายฝน ทับพลทหารล้มตายเป็นอันมาก พอรุ่งเช้ากองทัพหงสาวดีจำเป็นต้องถอนทัพกลับไปอย่างบอบช้ำที่สุด
รุ่งขึ้นคืนที่สอง ถึงเวรของกองทัพเมืองตองอูเข้าตี โดยกองทัพเมืองตองอูพยายามยกทัพเข้าตีเฉกเช่นเดียวกับกองทัพหงสาวดี คือทหารล้มตายเป็นจำนวนมาก พอถึงรุ่งเช้ากองทัพเมืองตองอูก็ต้องถอนทัพกลับไปอย่างบอบช้ำมาเช่นเดียวกับ กองทัพหงสาวดี
ในระหว่างที่สองกองทัพทำการศึกอยู่นั้น สมเด็จพระนเรศวรได้สำรวจพื้นที่ที่จะทำการรบและชัยภูมิของฝ่ายเมืองลุมเมือง คังจนสิ้นข้อสงสัย ในวันต่อมาพระองค์ตัดสินพระทัยแยกกองทัพออกเป็นสองส่วนเท่าๆกัน ทางนึงเพื่อทำเสียงดังอึกทึกครึกโครมเพื่อหลอกล่อให้กองทัพเมืองลุมเมืองคัง เข้าใจว่ากองทัพอยุธยาจะบุกด้านหน้าเฉกเช่นกองทัพหงสาวดีและตองอู ส่วนกองทัพอีกส่วนสมเด็จพระนเรศวรได้นำทับลอบเข้าตีเมืองตามเส้นทางส่ง เสบียงของเมืองซึ่งอยู่ด้านหลังของเมือง ทำให้เมืองลุมเมืองคังแตก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า แม่ทัพนายกองเมืองลุมเมืองคังพาทหารไปป้องกันเมืองทางด้านหน้ากันหมด โดยด้านหลังของเมืองไม่มีกองกำลังมารักษาการ ทำให้กองทัพพระนเรศวรสามารถยกทัพเข้าเมืองได้อย่างง่ายดาย
สุดท้ายนี้ผมอยากจะแนะนำทุกท่านว่า ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์อะไรก็แล้วแต่ หากเราตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาทแล้วความผิดพลาดและความเสียหายก็จะไม่ เกิดขึ้นกับเรา ดั่งเช่นพรเจ้าเล่าเสี้ยนแห่งเสฉวน และฝ่ายเมืองลุมเมืองคังที่ประมาทและชะล่าใจเป็นเหตุให้ต้องเสียบ้านเสีย เมืองในที่สุด