การเมืองไทยฉบับ(มากกว่า)สามก๊ก

การเมืองไทยมากกว่าสามก๊ก
การเมืองไทยมากกว่าสามก๊ก

การเมืองไทยฉบับ(มากกว่า)สามก๊ก แม้ไม่มี ทวนยาว 8 ศอก หนัก 80 ชั่งจีน พัดขนนกกระเรียน หรือ ดาบชิงกัง ในมือนักการเมือง แต่มือเปล่าและเรื่องราวการเมืองไทยก็เข้มข้นไม่แพ้กัน

ใครบางคนว่าไว้ “อ่านสามก๊ก สามจบ คบไม่ได้” แต่ ณ วันนี้ ยิ่งอ่านให้ทะลุปรุโปร่งยิ่งดี เพราะเรื่องราวในวรรณกรรมอายุกว่า 1,800 ปีเรื่องนี้ ยังร่วมสมัย และใช้สะท้อนสัจธรรมบางอย่างได้ตลอดเวลา

โดยเฉพาะสัจธรรมทางการเมืองไทย พ.ศ.2554 ที่ตัวละครต่างๆ ยังวนเวียนอยู่ในสภาผู้แทนอันทรงเกียรติ บ้างก็หลุดวงโคจรแต่ยังชักใยอยู่เบื้องหลัง

เจ้าของนามปากกา “เล่า ชวน หัว” สุขสันต์ วิเวกเมธากร, เมธา เจริญธนาวัฒน์ เว็บมาสเตอร์เว็บไซต์ไทยสามก๊กดอทคอม ตรีภูมิ ต้นวัชรปาล ผู้รอบรู้สามก๊ก และ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน คุยเรื่องนี้กันอย่างออกรสในวงเสวนา “สามก๊กกับการเมืองไทย” ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม

โดยคร่าวๆ สามก๊ก อธิบายถึงการแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า เริ่มต้นจากสมัยนั้นมีขุนศึกมากมายที่อยากตั้งตัวเป็นใหญ่ โดยแต่ละฝ่ายก็อ้างว่าตนทำเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น ที่กำลังเข้าสู่ความเสื่อมทรามเนื่องจากพระเจ้าเลนเต้ขาดทศพิศราชธรรม เชื่อฟังแต่คำป้อยอ 10 ขันที เหล่าขุนนางก็ขูดรีดราษฎรจนได้รับความเดือดร้อนไปทั่วจนเกิดกบฏโพกผ้าเหลือง ขึ้นในแผ่นดิน

“ประเทศไทยก็คงไม่ต่างจากสามก๊กก็คือมีขุนศึกมากมายที่อยากจะตั้งตัวเป็น ใหญ่เพื่ออยากจะฟื้นฟู ทุกคนในสมัยสามก๊กอ้างคำตอบเดียวกันหมด อ้างว่าฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น โจโฉ เล่าปี่ ซุนกวน อ้วนเสี้ยว อ้วนสุดก็พูด ผมทำเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น ทั้งที่คนพวกนั้นมีทั้งพวกฉ้อฉล คนดี ๆ ก็มี คนบางคนทำดีโดนฆ่า โดนอำนาจมืดหายไปก็มี” เมธา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของตำนานสงครามรวมแผ่นดิน

โจโฉ – ตัวโกงหรือวีรบุรุษ

หากพูดถึง โจโฉ ตัวละครเอกในฐานะผู้ร้ายเพราะมีลักษณะนิสัยโหดเหี้ยม เด็ดขาด แต่ในมุมมองของวิทยากรทั้ง 3 กลับมองว่าเป็นรัฐบุรุษ เพราะคำว่า “ทะเยอะทะยาน” อาจแปลว่า “มุ่งมั่น” และคำว่า “โหดเหี้ยม” อาจจะหมายถึง “เด็ดขาด” ได้เช่นกัน

“โจโฉก็จัดการกับเจ้าพ่อมาเฟียหมด ทำให้เขาได้เห็นว่าราชวงศ์ฮั่นเสื่อมอย่างไร เสื่อมเพราะขันที เพราะมาเฟีย ขุนนางไร้สติปัญญาที่ซื้อตำแหน่งเข้าไป ทางเดียวที่จะทำได้คือจัดการ แต่ว่าจะจัดการโดยการก่อกบฏเหมือนโจรโพกผ้าเหลืองหรือเปล่า ใจโจโฉคงไม่คิดจะทำ เพราะว่าเขาเลือกที่จะใช้ชีวิตราชการเพื่อที่จะไต่เต้าขึ้นไปมีบทบาทในราช สำนักฮั่นตอนนั้น เพราะถ้าเขาอยู่ในจุดสูงสุดที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้วก็จะทำให้ ราชวงศ์ดีขึ้นได้ ผมคิดว่านี่คือมุมมองของโจโฉ” เมธา อธิบาย

สำหรับเมธาเองเขายอมรับว่าเคยมองโจโฉเป็นผู้ร้าย ที่ต่อสู้กับฝ่ายพระเอกคือเป็นเล่าปี่และขงเบ้ง แต่พอมาวิเคราะห์ดูแล้วกลับทำให้เห็นว่า โจโฉเสียเลือดเพื่อให้ได้แผ่นดิน ส่วนเล่าปี่เสียแต่น้ำตาเพื่อให้ได้แผ่นดิน เลือดย่อมข้นกว่าน้ำตา ความทุ่มเทและการต่อสู้ที่ต้องแลกมาด้วยรอยแผลมีค่ามากกว่าการใช้น้ำตาเรียก ร้องความเห็นใจ และโจโฉเองก็ไม่ได้คิดร้ายต่อราชสำนักอย่างที่ตีความกัน ไม่เช่นนั้นแล้วเมื่อตอนฮ่องเต้หลบหนี ลิฉุย กุยกี ที่พยายามร่วมมือกันปลงพระชนม์ เขาคงไม่ยกทัพไปช่วย จนเมื่อในที่สุดโจโฉมีอำนาจสูงสุดก็ไม่ยอมขึ้นเป็นฮ่องเต้เสียเอง แม้จะมีเสียงสนับสนุนมาก แสดงให้เห็นถึงความรักที่มีต่อสถาบัน เพียงแค่เขาสามารถจัดการบริหารบ้านเมืองอย่าง “เบ็ดเสร็จ” ได้ก็เพียงพอแล้ว

“โจโฉสอนประชาชนแล้วก็มีการให้ขุนศึกไปช่วยกันทำนา เช่น แฮหัวตุ้นไปทำเขื่อน โจโฉก็ไปช่วยทำนา มันเป็นการสอนให้เห็นว่าคนทุกชนชั้นต้องช่วยๆ กัน ไม่ใช่ปล่อยให้ชนชั้นปกครองคิด คนรากหญ้าทำ ผมว่าอย่างนี้มันไม่มีประสิทธิผล คนระดับสูงต้องมาช่วยทำด้วย ไม่ใช่แค่วางแผนก็พอแล้ว อย่างนี้ไร้ประโยชน์ มันไม่แข็งแรง คนระดับสูง ๆ มาช่วยเราทำงานมันทำให้มีกำลังใจ แล้วประเทศชาติก็จะเจริญขึ้น” เมธากล่าว

คล้ายกันกับตรีภูมิ ซึ่งคิดว่าโจโฉมีความเป็นนักเลงมากกว่า ตัดสินใจเด็ดขาด และโจโฉโดยนิสัยใจคอมีเล่ห์เหลี่ยมน้อย ซึ่งน่ายกย่อง

“เขาจะเสียอย่างเดียวตรงตอนยึดกุมอำนาจราชสำนักส่วนกลางได้สักพักหนึ่ง เลือกตั้งสมัยที่สอง เอ้ย ไม่ใช่สิ พอยึดอำนาจส่วนกลางได้พักหนึ่งแล้วเขาจะลืมตัว อหังการอยู่พักหนึ่งทำให้ช่วงนั้นไปเหยียบตาปลาใครหลาย ๆ คนเข้า สำหรับตัวผมเองสามก๊กจริง ๆ เริ่มหลังราชโองการเลือด เพราะหลังจากราชโองการเลือดทำให้คนตีตราโจโฉว่าไม่จงรักภักดี”

สุขสันต์คิดว่ามุมมองที่มีต่อโจโฉว่าเป็นผู้ร้ายนั้นมาจากชนชั้นศักดินา นักเขียนนักวิชาการ ซึ่งอาจจะไม่ศึกษาความจริงทางประวัติศาสตร์มาอย่างถี่ถ้วน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องอำนาจ

“กรณีโจโฉนี่แหละ ผมคิดว่าเป็นที่มาให้พวกตะวันตกประธานาธิบดีเป็นได้ไม่เกิน 2 สมัย ถ้าเป็นสมัยที่ 3 เริ่มเสียคนแล้ว ยิ่งได้คะแนนเสียงมาแบบแลนด์สไลด์ จะถือว่าเสียคนมาก …

ครั้งแรกก็ชนะขาด ครั้งที่สองก็สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เริ่มทำให้คนเสียคนแล้ว จริง ๆ ผมเสียดายมาก”

เล่าปี่ – นักสร้างภาพ?

ส่วน “ฝ่ายพระเอก” ไม่ว่าจะในสายตาของผู้กำกับภาพยนตร์ หรือความรู้สึกของผู้อ่านจากฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หนีไม่พ้นจ๊กก๊กโดยการนำของพระเจ้าเล่าปี่ ซึ่งหลายฝ่ายยกย่องเรื่องคุณธรรม ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมกลโกง แต่มุมหนึ่งเล่าปี่ก็อาจเป็นนักสร้างภาพตัวยง

“เขาแอบอ้างว่าตัวเองเป็นเชื้อพระวงศ์ฮั่น จะตรวจยังไง ผมถือว่าเขาคนนี้คือคนทอเสื่อขาย มีบริษัท SME ของตัวเองทอโรงเท้าขาย ทอเสื่อขาย เขาเข้าสู่การเมืองแบบลงทุนน้อยที่สุด ในความคิดผม “ ตรีภูมิตั้งข้อสังเกต

คล้ายกับสุขสันต์ที่ว่าการอ้างเป็นเชื้อพระวงศ์ของเล่าปี่นั้นไม่น่าเชื่อ ถือ และยังเสริมว่าเล่าปี่เป็นตัวอย่างนักการเมืองที่เลวเพราะเมื่อครั้งที่อพยพ จากซินเจี๋ยพอจวนตัวเขากลับทิ้งประชาชนเรือนแสนหนีเอาตัวรอด

“อย่าว่าทิ้งประชาชนเลยครับ ลูกเมียก็ทิ้ง จริงๆ คุณผู้หญิงคนไหนชอบคนอย่างเล่าปี่เตรียมตัวอกหักได้เลย น้ำตาเช็ดหัวเข่าไม่พอ เช็ดไปหมดทั้งตัว เล่าปี่หลอกพาคนไปตาย ทิ้งลูกทิ้งเมีย ไปคบกับใครอยู่กับใคร ไปอยู่ที่ชีจิ๋วกับโตเกี๋ยมอยู่แป๊บ ๆ บอกว่าโตเกี๋ยมไม่เอาไหน ควรจะยกชีจิ๋วให้เล่าปี่ ไปอยู่กับเล่าเปียวแป๊บหนึ่งบอกเล่าเปียวไม่เอาไหนอีกแล้ว ไปอยู่กับเล่าเกี้ยงบอกเล่าเกี้ยงไม่เอาไหนอีกแล้ว กลายไปเป็นชุบมือเปิบ คุณเปิดร้านขายของอย่าจ้างคนอย่างเล่าปี่มาเป็นลูกจ้างเป็นอันขาด อยู่ไปแป๊บก็บอกไอ้เถ้าแก่คนนี้ห่วย มันจะยึดร้านเลย น้องสาวเถ้าแก่เอ๊าะๆ ไปที่ไหนก็ฟาดเรียบ เข้าไปกังตั๋งแป๊บเดียวได้ซุนฮูหยิน ไปโตเกี๋ยมก็ไปได้น้องสาวของบิต๊ก บิฮูหยิน แต่ถึงเวลา อั๊วไปก่อน …

ร้องไห้โฮไม่น่าพาประชาชนมากันเลยจะกระโดดน้ำตาย จริงๆ แล้วผมว่าไอ้คนที่อยู่ใกล้ๆ ตอนที่เล่าปี่ทำท่าจะกระโดดน้ำตายไม่น่าไปยื้อยุดฉุดไว้เลย ถ้า เล่า ชวน หัว อยู่ใกล้ๆ ประทานโทษเถอะ ถีบลงน้ำไปแล้ว” เห็นว่าประเด็นกำลังเข้าสู่เรื่องเครียด สุขสันต์เลยสบโอกาสกระตุ้นอารมณ์ขัน ผ่อนคลายบรรยากาศ

แก้ไข ไม่แก้แค้น

กลายเป็นอีกวาทกรรมหนึ่งเพื่อความ “ปรองดอง” และ “สมานฉันท์” แต่ปุถุชนผู้เกิดมาพร้อมกิเลสหากไม่มีน้ำใจนักกีฬามากพอคงทำไม่ได้ แค่ตีหัวแตกยังยากที่จะให้อภัย น้อยนักที่จะแยกแยะอารมณ์กับประโยชน์ได้เด็ดขาด แต่ไม่ใช่โจโฉ…

“ครั้งหนึ่งเขาไปรบกับเตียวสิวถ้าพูดถึงก็เป็นเหตุทำให้ลูกเขาตาย หลานชายคนโตเขาตาย ขุนพลคู่ใจคือเตียนอุยตาย แต่ตอนหลังเขารับเตียวสิวเป็นพวกนี่คือ “แก้ไข ไม่แก้แค้น” แต่ในขณะเดียวกันเล่าปี่นะ ซุนกวนฆ่ากวนอูตาย พี่เอาเลย รอสามปี ต้องตายกันไปข้าง ดังนั้นนักการเมืองในรูปแบบของเล่าปี่น่ากลัวครับ”

“พูดถึงแก้ไขไม่แก้แค้นผมมักยกอุทาหรณ์อันหนึ่ง ตอนที่โจโฉสามารถเอาชนะอ้วนเสี้ยวได้ เขาพบว่าในห้องเอกสารของอ้วนเสี้ยวมีจดหมายสวามิภักดิ์ของลูกน้องตัวเองต่อ อีกฝ่ายหนึ่ง ฟังแล้วคล้าย ๆ การเมืองไทย ไปสวามิภักดิ์เยอะแยะ แต่แทนที่จะหยิบสิ่งนี้ขึ้นมาแล้วเชคบิลทีละท่าน ถ้าผมจำไม่ผิดเขาเลือกที่จะเผาเอกสารเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าใครบ้างที่หนีทัพตัวเอง แปรทัพไปอีกซีกหนึ่งซึ่งเข้มแข็งกว่า” ดร.วิทย์ เสริม

แต่บางครั้งกับความฉ้อฉล คำว่าแก้ไขก็ใช้ไม่ได้ เมธา มองว่าการประนีประนอมกับคนผิดก็ไม่สมควร

“โจโฉไม่เคยเก็บขันทีไว้ โจโฉฆ่าเรียบเลย ถามว่าทำไมไม่เหลือไว้บ้าง นั่นคือจุดอ่อนของราชสำนัก จึงต้องฆ่าให้หมด ถามว่าโจโฉรุนแรงไหม ถ้ามองในเชิงนั้นก็รุนแรง แต่ถ้ามองในเชิงประโยชน์ของชาติชีวิตขันที 10 คน กับแผ่นดินจีน 1 แผ่นดินจะเลือกอะไร โจโฉเลือกที่จะฆ่าแล้วยอมโดนด่าว่า เออ ผมฆ่าขันทีเอง แต่ประเทศชาติผมอยู่ ยังยืนอยู่บนแผ่นดินจีนได้ ผมว่าประเทศไทยหาอย่างนี้ยาก ยอมที่จะมาสู้กับความอยุติธรรมการทุจริต ในแต่ละสังคมมีการทุจริตอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่การเมือง ทุกสังคมมีหมด ทุกสื่อมีหมด อยู่ที่เราจะทำยังไงเพื่อรักษาสิ่งที่เราทำอยู่ให้รอดปลอดภัย ผมเห็นว่ามันค่อนข้างจะน่ากลัว เพราะบางคนชอบเอาคำว่าแก้ไขไม่แก้แค้นมาอ้าง ถ้าลิโป้พูดอย่างนี้ โจโฉจะไม่ฟัง”

จุดจบของนกสองหัว

เปรียบเทียบกับการเมืองไทย เมธาบอกว่า “ขุนศึก” คล้ายนักการเมืองที่แบ่งเป็นพรรค แต่ละพรรคไม่เคยจริงใจต่อกัน บางพรรคการเมืองก็หวังแค่ได้ร่วมรัฐบาล อยู่ข้างฝ่ายที่มีอำนาจคอยเกาะแกะ ยกตัวอย่างอย่างเล่าปี่เห็นว่าอ้วนเสี้ยวมีกำลังก็ไปเกาะอ้วนเสี้ยว แต่พอมองเห็นว่าโจโฉจะขยี้อ้วนเสี้ยวก็ย้ายออกมา

“เรื่องการย้ายทุกคนมีสิทธิ์ที่จะย้ายพวก แต่ว่าถ้าย้ายแล้วไม่ทำร้ายทำลายพวกพ้องเดิมที่เคยอยู่ก็ถือว่าเป็นคนที่มี คุณธรรม แต่ถ้าย้ายไปแล้วคุณบอกจุดอ่อนของเขาเพื่อให้อีกฝ่ายทำลาย นั่นคือคนชั่ว” หรือ คนอกตัญญู เมธายกตัวอย่าง “เขาฮิว” ที่แปรพรรคไปอยู่กับโจโฉ

“อ้วนเสี้ยวเคยให้เงินเดือนเขาฮิวตั้งเยอะ ไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษา 1 ใน 6 คน พอเห็นว่าอ้วนเสี้ยวจะสู้ไม่ได้จะหนีไปหาโจโฉ การหนีเพื่อเอาตัวรอดพอเข้าใจเพราะแต่ละคนก็กลัวตาย แต่พอหนีไปแล้วกลับไปชี้จุดอ่อน ตรงนี้ไงมีเสบียงอยู่เผามันเลย ชนะแน่ ในมุมมองโจโฉ เขาชอบชนะข้าศึกง่าย ๆ แต่ถ้าเป็นอ้วนเสี้ยว รู้ว่าเขาฮิวทำอย่างนี้ คงเสียใจ” ตรีภูมิ เปรียบเปรยเขาฮิวกับใครบางคน ชนิดไม่ต้องเสียเวลาเดา

“หลังจากที่โจโฉชนะอ้วนเสี้ยว เขาฮิวเดินมาแถวหน้าเลย บอกว่า เฮ้ย เข้าเมืองได้เนี่ยเพราะฉัน แต่ว่าในขณะเดียวกันคนที่ลงไปช่วยหาเสียง เอ่อ ไม่ใช่ครับ คนที่ช่วยรบ แม่ทัพที่ช่วยรบเสียเลือดเสียเนื้อไป ยังไม่พูดสักคน พูดเยอะเข้าๆ สุดท้ายขุนพลเคาทู หมั่นไส้ ฆ่าเขาฮิวตายเลย โจโฉพูดว่า ทำเขาทำไม เขาชอบพูดเล่น…แค่นี้ สุดท้ายจุดจบของคนที่เปลี่ยนสีบ่อย ๆ ซึ่งตามหนังสือพิมพ์เขาจะมีคำที่รุนแรงกว่านี้แต่ผมไม่พูด สุดท้ายจุดจบก็แบบนี้ ไม่เชื่อดูตอนนี้ก็ได้”

แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อมีคนอย่างเขาฮิวอยู่ สุขสันต์แนะทางออกไว้ว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้แทนขอให้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ

“เราเลือกตามเงินไม่มากาไม่เป็น หรือหลายๆ อย่าง เราจึงได้คนอย่างเขาฮิวขึ้นมา เมื่อนายกคนหนึ่งถูกยึดอำนาจ หนีไปต่างประเทศ พอกลับมาเข้าไปกอดเข่าร้องห่มร้องไห้ แต่หัวหน้าระเห็จออกไปใหม่ เขาก็มากอดคอกับสุดหล่อคนใหม่ หัวเราะก๊ากๆ คนประเภทนี้เข้าแก๊งค์ไหนหัวหน้าตายหมด”

“นายกหญิงคนแรก รัฐบาล 6 พรรค 300 คน ไม่มีคนจากพรรคนี้มาร่วมวงแล้ว มีทีท่าว่า กกต. เริ่มจะเอาจริง อาจจะยุบพรรคของเขาฮิวนี้ก็ได้ ผมว่าอาจจะเป็นนิมิตหมายใหม่ให้ประเทศชาติเราพบแสงสว่างแม้จะเป็นแสงสว่าง แค่ปลายอุโมงค์ มันเป็นหน้าที่ของประเทศไทยเรา หน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันกำจัดคนอย่างเขาฮิวออกไป”

คนรุ่นใหม่อย่าง เมธา เชื่อว่าเพราะบางครั้งเราสอนให้คนรุ่นใหม่เห็นผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง หากเราเน้นปลูกฝังคุณธรรมในเยาวชนให้กลับมาเข้มแข็ง การเมืองยุคหน้าก็อาจจะพึ่งพาได้ ส่วนรุ่นเก่า แก่เกินดัดแล้ว

“ถามว่าเบื่อการเมืองไหม เบื่อ ถ้าเบื่อแล้วทำไมไม่สอนลูกตัวเองให้ไม่ทำอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ต่อให้คุณมีอายุ 120 ปีคุณก็ต้องเบื่อไปอีก 120 ปี…

…สู้สอนลูกคุณให้ดีแล้วลูกคุณมาเปลี่ยนประเทศได้ ดีกว่า” เมธาทิ้งท้าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *