คอมมิวนิสต์จีน ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือ เฉินตู้สิว คณบดีคณะอักษรศาสตร์กับลีต้าเจา อาจารย์ประวัติศาสตร์ ทั้งคู่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ระยะนั้นแม้จะมีคนสนใจปรัชญาตะวันตกกันมากก็ตาม แต่ที่น่าแปลกใจคือแนวคิดของ มาร์กซ ไม่เคยมีใครนำมาพูดถึงเลย ทุกคนเชื่อมั่นในความคิดแบบประชาธิปไตยตะวันตกมาก ว่าจะเป็นทางรอดของจีน เฉินตู้สิวก็เช่นกัน เขามีความศรัทธาในปรัชญาตะวันตกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย และความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ตะวันตก
ในปี ค.ศ. 1915 เฉินได้ออกวารสาร คนหนุ่มรุ่นใหม่ เพื่อกระตุ้นนักศึกษาให้ตระหนักถึงปัญหาของประเทศ และทางรอดของประเทศอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงให้ทันโลก บทบรรณาธิการฉบับแรกกล่าวว่า “ภาระกิจของคนรุ่นใหม่ คือการต่อสู้เพื่อล้มล้างความเชื่อและประเพณีเก่าๆ รวมทั้งลัทธิขงจื๊อ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคตามความคิดแบบใหม่และความก้าวหน้า จะต้องเลิกระบบการศึกษาและการเรียนแบบเก่า แล้วสร้างสังคมใหม่ บนพื้นฐานของประชาธิปไตยและวิทยาศาสตร์”
ลีต้าเจา
ความคิดของเฉิน ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดแบบประชาธิปไตย “เสรีนิยมแบบแมนเชสเตอร์” เขามองปัญหาความล้าหลังและความเสื่อมโทรมของจีน โดยเปรียบเทียบกับตะวันตก เขาเห็นว่าสาเหตุอยู่ที่ระบบการปกครองของจีนไม่เป็นประชาธิปไตยแบบฝรั่ง รวมทั้งขาดการค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์ ในยุคแรกของคนหนุ่มรุ่นใหม่ เขาจึงนำความคิดใหม่ๆ มาเสนอตลอดเวลา อาทิ บทแปลของ อดัม สมิท นอทเช่ มิลล์ ตอลสลอย ฮักซเลย์ ดาร์วิน และสเปนเซอร์ แต่ขณะนั้นยังไม่มีใครเขียนถึงมาร์กซ
ส่วนลีต้าเจานั้น เป็นนักประวัติศาสตร์และนักอภิปรัชญา ลีได้อิทธิพลทางปรัชญามาจากเอมเมอร์สันและเฮเกล มีผู้กล่าวว่าลีไม่ได้รับอิทธิพลจากเฮเกล แต่เป็นแบร์กซองมากกว่า แต่ลียังคงศรัทธาเชื่อมั่นคำสอนเดิมของจีนอยู่ ความคิดของเขาจึงปรากฎออกมาในรูปของการผสมผสาน ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ระหว่างศาสนาพุทธกับความคิดของ ชูหยวน เอมเมอร์สันและเฮเกล ความคิดดังกล่าวนี้ เขาได้ถ่ายทอดลงในบทความสองบทชื่อ คนหนุ่ม และปัจจุบัน
ในระยะที่ลีเชื่อในการเปลี่ยนแปลงแบบปฎิรูป เขากล่าวว่า ปัจจุบันเป็นอนาคตของอดีต และเป็นพื้นฐานของความก้าวหน้าในอนาคต การเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎของโลก เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของจิตโลก ที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสมบรูณ์ในอนาคต บทความ คนหนุ่ม ของเขาได้เน้นให้คนหนุ่มตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นหนุ่ม ที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับสร้างอนาคตและต้องลงมือทำ
จากความผันผวนทางการเมืองของจีน ตั้งแต่ราชวงศ์แมนจูจนถึงสมัยสาธารณรัฐ การแพ้สงครามต่อประเทศตะวันตกและญี่ปุ่น จนถูกปฎิบัติราวกับเป็นเมืองขึ้น มีผลกระตุ้นให้ลีศึกษาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เขาสรุปว่า ความเสื่อมโทรมทั้งหลายนี้ เป็นผลมาจากความเสื่อมภายในประเทศจีนเอง อารยธรรมจีนอันรุ่งเรืองได้ตายเสียแล้ว เหลือแต่ซากความยิ่งใหญ่ในอดีต ที่กับเป็นอุปสรรค์ต่อความก้าวหน้าของจีน เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งลีและเฉิน เมื่อศึกษาถึงความล้มเหลวของจีนแล้ว แทนที่จะเห็นว่าเป็นผลการกระทำของคนภายนอกกลับโทษตนเอง ในข้อที่ไม่เจริญทัดเทียบคนอื่น ในขณะเดียวกันก็เริ่มมองไปที่ตะวันตก ว่าเป็นทางรอดของจีนในอนาคต
หลังจากสถาปนาจีนเป็นสาธารณรัฐได้ไม่นาน ความหวังของเฉินและลี ที่จะได้เห็นจีนก้าวหน้าไปเป็นประชาธิปไตย และเจริญทัดเทียบนานาประเทศก็พังทลาย เมื่อซุนยัดเซน ไม่สามารถรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวได้ หลังจาก หยวนซีไขตายก็เกิดแย่งอำนาจกัน ในเวลาเดียวกันประเทศตะวันตกก็ยังคงยื้อแย่งผลประโยชน์ในเมืองจีน และจุดชนวนสำคัญคือ ข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น 21 ประการ
ก่อนหน้านี้เมื่อจีนร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เฉินมีความหวังว่าฝ่ายพันธมิตร คงจะช่วยป้องกันผลประโยชน์ของจีน แต่เมื่อประชุมกันที่แวร์ซายส์ เหตุการณ์กับตรงข้าม ที่ประชุมกลับมีมติให้ยกกกรมสิทธิ์เหนือซานตุงให้แก่ญี่ปุ่น ซึ่งประเด็นนี้เป็นชนวนสำคัญ ที่เปลี่ยนแปลงแนวคิดแบบนิยมตะวันตกไปสู่แนวตรงข้าม
ในช่วงเวลานี้เอง พรรคบอลเชวิคได้รับชัยชนะในการปฎิวัติรัสเซีย ทฤษฎีการปฎิวัติรวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับประเทศด้อยพัฒนาเริ่มแพร่หลายออกไป ไม่มีใครคิดมาก่อนว่า ประเทศด้อยการพัฒนาทางอุตสาหกรรมจะสามารถปฎิวัติได้สำเร็จ โดยเฉพาะทฤษฎีของมาร์กซ ซึ่งทำนายถึงการปฎิวัติของชนชั้นกรรมาชีพในประเทศอุตสาหกรรม ก็ไม่ได้คิดถึงพลังของชาวนา เพราะเชื่อว่าเป็นไปได้ยากที่จะนำคนเหล่านี้ไปปฎิวัติ ลีต้าเจาเป็นคนแรกที่ได้รับความคิดของเลนิน เขาเริ่มให้ความสนใจ ประกอบกับมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และปรัชญาเฮเกลอยู่แล้ว เขาจึงสามารถเข้าใจลัทธิมาร์ก-เลนิน ได้รวดเร็วกว่าคนอื่น เขาเขียนบทความสดุดีการปฎิวัติในรัสเซียเรื่อง “ชัยชนะของบอลเชวิค” โดยใช้ปรัชญาเฮเกลมาอธิบายว่า ชัยชนะของบอลเชวิคเป็นชัยชนะของทุกๆคน และเป็นขั้นหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงไปสู่จิตโลก แม้แต่ซุนยัดเซนเองก็ยังยอมรับ และยกย่องในความคิดความสามารถของเลนิน
ใน ค.ศ. 1918 ลีต้าเจาได้จัดตั้งสมาคมเพื่อการศึกษาลัทธิมาร์กซ์ ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาของเขาทั้งสิ้น ยกเว้นคนเดียวคือ เมาเซตุง ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงผู้ช่วยบรรณารักษ์ห้องสมุด ดูแลหนังสือพิมพ์และเอกสารอื่นๆ สมาชิกเริ่มแรกมีเพียงไม่กี่คน ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นตัวจักรสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งหมด การศึกษาลัทธิมาร์กซ์ของกลุ่มนี้เป็นไปอย่างเงียบๆ ไม่มีใครให้ความสนใจมาก วิธีการศึกษาเป็นไปในรูปแบบของการวิจารณ์ลัทธิเป็นส่วนใหญ่ ดูราวกับว่าทุกคนต่างต้องการโจมตีมาร์กซ์มากกว่าที่จะยอมรับ และคนพวกนี้เองที่เป็นต้นกำเนินคอมมิวนิสต์จีน
แท้ที่จริงแล้ว การโต้แย้งนี้เองกลับทำให้ความเข้าใจในลัทธิมาร์กซ์มากขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งแตกต่างไปจากสมัยแรกรู้จักปรัชญาตะวันตกที่ยอมรับโดยไม่ข้องใจ การดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ในจีน จึงไม่มีใครนึกถึง และเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งของความล้มเหลวในทางการเมือง
การกบถและ ความวุ่นวายต่างๆ เกิดมากขึ้นตามเมืองต่างๆของจีน ผู้ก่อการร้ายเกิดขึ้นทั่วไป ในปักกิ่งมีการรวมกลุ่มของคนงานบ้าง แต่ยังไม่หนาแน่น ทางด้านการศึกษามีการประชุมถกเถียงกันถึงสถานการณ์ และความเป็นไปต่างๆ ทั้งของจีนและประชาคมโลก ยิ่งนานวันทุกคนก็ยิ่งคิดถึงความมั่นคงของตน ระยะนี้ปัญญาชนจีนที่กลับจากต่างประเทศก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น การรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาก็มีมากขึ้น
จนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 อันเป็นวันครบรอบปีที่ 4 ของการยอมรับข้อเรียกร้อง 21 ประการ ของญี่ปุ่น ซึ่งทุกคนถือว่าเป็นวันแห่งการสูญเสีย ในวันนั้นมีข่าวออกมาว่า ที่ประชุมพันธมิตรที่แวร์ซายส์ ได้ตกลงยกกรรมสิทธิ์เหนือซานตุง ซึ่งเป็นของจีนแต่ถูกเยอรมันยึดครองกรรมสิทธิ์ ไปให้แก่ญี่ปุ่น แทนที่จะคืนให้จีน ข่าวนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่คนทั่วไป เพราะเชื่อว่าเป็นแผนของญี่ปุ่นที่จะยึดครองจีน โดยมีมหาอำนาจหนุนหลัง ประกอบกับมีรัฐมนตรี 3 นายของจีนเป็นผู้เห็นด้วย และเซ็นรับข้อตกลงนี้ การประท้วงจึงเกิขึ้นในปีกกิ่งทันที
เฉินตู้สิว เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการประท้วงครั้งนี้ เขาเรียกร้องให้นักศึกษารวมกลุ่มต่อสู้ โดยพูดว่า
“…สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการจะพูด และพูดด้วยน้ำตาก็คือความหวังที่ว่า นักศึกษาที่ยังหนุ่มแน่นจะมีความสำนึกในตนเอง และพร้อมที่จะต่อสู้ ความสำนึกในตนเองหมายความว่า จะต้องตระหนักถึงพลังและความรับผิดชอบกับเคารพในความเป็นหนุ่มของท่าน ทำไมท่านต้องต่อสู้ เพราะว่าท่านจำเป็นต้องใช้สติปัญญาที่มีอยู่กำจัดคนที่กำลังร่วงโรย ทั้งร่างกายและสติปัญญาให้หมดสิ้นไป จงถือเสมือนหนึ่งว่าพวกนี้เป็นศัตรูของท่าน อย่าติดต่อหรือยอมให้คนพวกนี้มีอิทธิพลใดๆ เหนือท่านอีกต่อไป….
โอ้ คนหนุ่มของจีน ท่านเข้าใจข้าพเจ้าหรือไม่ 5 ใน 10 คน ที่ข้าพเจ้าเห็นล้วนเป็นหนุ่มแต่อายุ ส่วนความคิดและจิตใจนั้นแก่ 9 ใน 10 คน เป็นคนหนุ่มแต่ร่างกาย แต่แก่ในจิตใจ เมื่อความแก่ปรากฎแก่ร่างกาย ร่างกายก็ร่วงโรย เมื่อความแก่ปรากฎแก่สังคม สังคมนั้นก็เสื่อมโทรม การรักษาจะกระทำได้ก็โดยการอาศัยคนที่ยังหนุ่ม และความกล้าหาญเท่านั้น ถ้าเราต้องการอยู่รอดต่อไป เราต้องมีแต่คนหนุ่ม ถ้าเราต้องการกำจัดคอรัปชั้น เราต้องมีคนหนุ่ม และนี่เองคือความหวังของสังคม..”
ขบวนการ 2 พฤษภา ได้เริ่มขึ้นแล้ว นักศึกษา 5000 คนจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการ เรียกร้องให้นักศึกษาในที่ต่างๆ มาร่วมมือกัน ในที่สุดก็มีสภานักศึกษาสำหรับวางแผนและปฎิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย จุดหมายสำคัญคือโค่นรัฐบาล ซึ่งมีรัฐมนตรีที่นิยมญี่ปุ่นอยู่
นักศึกษาประมาณ 10000 คน ได้ไปชุมนุมกันที่ “ประตูสวรรค์สันติ” หน้าพระราชวังฤดูร้อน และตกลงเดินขบวนไปขอความช่วยเหลือจากทูตมหาอำนาจ ประเทศแรกที่นักศึกษาเดินไปหาคืออเมริกา แต่ถูกปฎิเสธ โดยอ้างว่าวันอาทิตย์ไม่ควรมาปรึกษากิจการงาน ความหวังในสันติวิธีดูจะไม่เป็นผล ขบวนนักศึกษาจึงเดินไปบ้านรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ด้วยรู้ว่า 3 รัฐมนตรีที่นิยมญี่ปุ่นหลบซ่อนอยู่ โดยมีกำลังทหารตำรวจสกัดกั้นอยู่หน้าประตู นักศึกษาจึงระดมขว้างปาด้วยก้อนหิน เมื่อตำรวจใช้ปืนยิง นักศึกษาจึงล่าถอยไปที่มหาวิทยาลัย ปรากฎว่ามีผู้ถูกจับไป 32 คน นักศึกษาได้เตรียมเดินขบวนบุกโรงพักตำรวจอีกถ้าไม่ปล่อยพวกที่ถูกจับไป ในที่สุดตำรวจก็ยอมปล่อย และนี่เองที่เป็นอาวุธสำคัญของนักศึกษา สำหรับใช้ต่อรองกับรัฐบาล
ต่อมาสภานักศึกษาได้ประกาศหยุดงาน ร้านค้าในปีกกิ่งปิดหมด คนงานรถไฟก็หยุดทำงาน และต่อมาคนงานในโรงงานต่างๆในปักกิ่ง ก็เริ่มหยุดงานบ้าง แล้วขยายไปเทียนสิน เซี่ยงไฮ้ นานกิง และฮันเค้า ในที่สุดรัฐบาลซึ่งประกาศจะใช้กำลังทหารเข้าจัดการกับนักศึกษาก็ยอมรับข้อ เสนอ แต่ปรากฎว่ารัฐนมตรีทั้ง 3 คนได้หลบหนีไปญี่ปุ่นเสียก่อน
ขบวนการ 4 พฤษภา เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างปัญญาชนกับกรรมกร และแสดงให้เห็นถึงพลังของการรวมตัวในความเชื่อร่วมกัน การปฎิบัติงานอย่างมีแบบแผนเป็นความสำเร็จอันดับแรกของเฉินตู้สิว ก่อนที่เขาจะก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ ร่วมกับลีต้าเจา
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ความคิดและความเชื่อเดิมของเฉินก็เริ่มสั่นคลอน ประชาธิปไตยและวิทยาศาสตร์ดูจะห่างไกลความจริง เมื่อดิวอี้มาบรรยายเรื่อง “ปรัชญาสังคมและการเมือง” และแสดงโครงสร้างของปรัชญาประชาธิปไตย ดิวอี้ดูจะเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของจีน เขาไม่พยายามยัดเยียดความเป็นตะวันตกให้ แต่กลับชี้ให้เห็นถึงเนื้อหาแท้จริงของตะวันตก ในจุดนี้เองเฉินจึงมองเห็นความแตกต่างของทฤษฎีประชาธิปไตยกับสภาพความเป็น จริงในสังคม บทความของเขาเรื่อง “พื้นฐานความเข้าใจประชาธิปไตย”
ที่ ตีพิมพ์ในวารสารคนหนุ่มรุ่นใหม่ เดือนธันวาคม 1919 นั้น เป็นการยอมรับข้อคิดของดิวอี้โดยสิ้นเชิง เขากล่าวว่า ความล้มเหลวของประชาธิปไตยจีนอยู่ที่การเข้าใจผิด ว่าการบังคับใช้รัฐธรรมนูญจากเบื้องบน จะมีผลให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยได้ แต่กฎหมายไม่มีพลังที่จะสร้างความเป็นจริงได้ “…ความจริงมีพลังที่จะสร้างกฎหมายได้ แต่กฎหมายไม่มีพลังที่จะสร้างความเป็นจริงได้…” ประชาธิปไตยต้องเกิดขึ้นจากพื้นฐานของสังคมนั้นเอง และจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ทุกหมู่บ้านทุกเมือง การถกเถียงถึงระบบรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งการรวมอำนาจหรือกระจายอำนาจ ล้วนเป็นสิ่งหลอกลวงทั้งสิ้น ตราบเท่าที่ประชาชนยังไม่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบประชาธิปไตย อย่าไปหวังอะไรจากพรรคการเมือง ซึ่งไม่มีแม้แต่ความเข้าใจในอธิปไตยของปวงชน หรือกระทั่งจากนายพล ซึ่งใช้ระบบคณาธิปไตยภายใต้ชื่อสาธารณรัฐ
เฉินตู้สิว เริ่มจับปัญหาทางเศรษฐกิจ เขาเริ่มให้ความสนใจความคิดของเลนินมากขึ้น “ทฤษฎีจักรวรรดินิยม” ของเลนิน อธิบายถึงปัญหาของประเทศด้อยพัฒนา การขูดรีดของประเทศนายทุนตะวันตก และนี่เองที่อธิบายภาพการประชุมที่แวร์ซายส์ให้เฉินเห็นว่าเป็นการร่วมมือ กันระหว่างญี่ปุ่นกับตะวันตก ขูดรีดผลประโยชน์จากจีน เฉินตู้สิวจับปัญหาได้และมองหาทางออก ดิวอี้เคยพูดว่าการแก้ปัญห่อยู่ที่ “การค้นหาวิธีที่มั่นคงเพื่อเผชิญกับปัญหาที่ใหญ่หลวง โดยคำนึงถึงกาลเทศะ” เลนินเสนอว่า มีแต่การปฎิวัติเท่านั้น และต้องมีกลุ่มแนวหน้าภายใต้ระบบองค์การที่มีประสิทธิภาพ แล้วพร้อมกันเดินไปหามวลชน
ปี ค.ศ.1920 เฉินตู้สิวประกาศเป็นมาร์กซิสต์-เลนินซิสต์ จากนั้นเขากับลีต้าเจาได้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน การประชุมพรรคครั้งแรก มีขึ้นเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ.1921 โดยมีคณะกรรมการกลางพรรคเพียง 12 คน และหนึ่งในนั้นคือ เมาเซตุง (ท่านเหมาของเราเอง)