กำเหลง เป็นชาวอำเภอหลินเจียง(ลิมกั๋ง) เมืองปาจวิ้นมณฑลเจียงสี มีชื่อรองว่า ซิงป้า เป็นผู้มีความรู้ แต่ชอบผจญภัย จึงคุมสมัครพรรคพวกทำตนเป็นโจรสลัดปล้นสะดมตีชิงทั่วทั้งแม่น้ำและทะเลสาบใน ภาคกลางของประเทศจีน ชอบผูกกระดึงไว้ที่เอว ใครได้ยินเสียงกระดึงก็ตกใจกลัวหนีไปไกล ใบเรือใช้แพรอย่างดีจากเสฉวน คนทั้งปวงจึงให้สมญาว่า สลัดใบเรือแพร
ภายหลังกำหลงกลับตัว พาพวกไปสวามิภักดิ์อยู่กับเล่าเปียว เจ้าเมืองเกงจิ๋ว แต่แล้วเห็นว่าเล่าเปียวสติปัญญาน้อยจะพึ่งบุญไม่ได้ จึงพาพวกหนีถึงแฮเค้า หองจอ เจ้าเมืองกังแฮซึ่งเป็นศัตรูของซุนกวนเกลี้ยกล่อมไว้เป็นพวกแต่มิได้เชิดชู เกียรติเท่าที่ควร กำหลงจึงคิดจะหนีไปอยู่กับซุนกวน หองจอได้ระแคะระคายจึงตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเอียนก๋วน(อู่ชาง)เพื่อเอาใจ
กำเหลงเลยได้โอกาศหนีไปสวามิภักดิ์ต่อซุนกวน แล้วนำทัพซุนกวนตีหองจอใช้เกาทัณฑ์ยิงหองจอตกม้าตาย การรบครั้งสำคัญที่สุดของกำเหลงคือคราวตีค่ายโจโฉ ณ ปากน้ำญี่สู แดนต่อแดน กำเหลงมีทหารม้า 100 คน บุกเข้าตีอย่างรวดเร็วในเวลากลางคืน จุดไฟเผาค่ายโจโฉหลายแห่ง โจโฉและทหารตกใจวิ่งหนีอลหม่าน เหยียบกันเจ็บตายเป็นอันมาก ทหารกำเหลงไม่เสียชีวิตแม้แต่คนเดียว
ซุนกวนจึงตั้งให้กำเหลงเป็นเชอะชงเจียงจวิน (นายพลประจัญบาน ) การรบครั้งสุดท้าย คือการรบระหว่างพระเจ้าเล่าปี่กับซุนกวน สะโมโขเจ้าเมืองลำมันซึ่งยกทัพมาช่วยเล่าปี่ ให้ทหารยิงเกาทัณฑ์ถูกหน้าผากกำเหลงแทบตกม้าพยายามดึงเกาทัณฑ์ก็มิออก จึงขับม้าหนีไปถึงตำบลอู่ตี๋ (ฟู่ฉือโข่ง ) มณฑลหูเป่ย มีความเจ็บปวดมาก ลงจากหลังม้าเข้าไปพิงต้นไม้อยู่ ก็ขาดใจตาย ความในสามก๊กว่า “กาซึ่งทำรังอยู่บนต้นไม้นั้นลงมาล้อมศพกำเหลงไว้ ทหารที่เหลือตายหนีไปได้นั้น ก็เอาเนื้อความไปแจ้งแก่พระเจ้าซุนกวน
ซุนกวนแจ้งว่ากำเหลงตายดังนั้น ก็ร้องไห้รักร่ำไรว่าเสียดายกำเหลงนัก จะหาไหนได้ แล้วก็ให้เจ้าพนักงานไปแต่งการศพฝังไว้ ณ ตำบลอู่ตี๋แล้วปลูกศาลเทพารักษ์ไว้ตรงหน้าศพ” ฝืมือการรบของกำเหลงนั้น เสมอด้วยเตียวเลี้ยว ทหารเอกโจโฉ ชัยชนะของกำเหลงในการทำลายค่ายโจโฉนั้น ซุนกวนถึงกับอุทานว่า “โจโฉนั้นได้เตียวเลี้ยวไว้เป็นทหารเอก เราก็ได้กำเหลงไว้เป็นทหารเอก พอจะสู้กับเตียวเลี้ยวได้” ในพระราชพงศาวดารจีนไม่มีกล่าวถึงกำเหลงถูกเกาทัณฑ์ของสะโมโขตาย เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นประกอบเอง