บทที่ 13 การใช้สายลับ กรีธาทัพสิบหมื่น ออกรบพันลี้ ฝ่ายราษฎร์ต้องจ่าย ฝ่ายหลวงต้องใช้ วันละพันตำลึงทอง วุ่นวางทั้งภายในภายนอก ราษฎรภูกเกณฑ์ไปเหนื่อยอยู่ตามทาง ทำไร่ไถนามิได้ มีเจ็บสิบหมื่นครัว
ยันกันอยู่หลายปี เพื่อชิงชัยในวันเดียว หากตระหนี่การใช้ยศศักดิ์ รางวัล จนมิรู้สภาพข้าศึก ก็ขาดเมตตาธรรมยิ่งนัก มิอาจเป็นแม่ทัพของไพร่พล มิอาจเป็นผู้ช่วยของเจ้านาย มิอาจเป็นเจ้านายผู้พิชิต
ฉะนั้น เหตุที่ประมุขผู้ปรีชาแม่ทัพผู้สามารถ กรีธาทัพชนะศึกสำเร็จผลเหนือผู้อื่น ก็เพราะล่วงรู้ก่อน การล่วงรู้ก่อน มิควรพึงผีสางเทวดา มิควรยึดแบบอย่างในอดีต มิควรถือฤกษ์เบิกยาม แต่พึงเอาจากคน ผู้รู้สภาพข้าศึก
ฉะนั้น การใช้จารชนมีห้า มีจารชนถิ่น มีจารชนใน มีจารชนซ้อน มีจารชนตาย มีจารชนเป็น ห้าจารชนใช้พร้อมกัน ข้าศึกมิรู้เหตุ นี้เรียกว่าอัศจรรย์ เป็นของวิเศษแห่งประมุข
จารชนถิ่น คือใช้คนพื้นเมืองข้าศึก จารชนในคือใช้ขุนนางข้าศึก จารชนซ้อน คือใช้จารชนข้าศึก จารชนตายคือผู้กระจายข่าวลวง ให้จารชนเราทราบ เพื่อแพร่ยังจารชนข้าศึก จารชนเป็น คือผู้กลับมารายงาน
ฉะนั้น ภารกิจของสามทัพ มิมีผู้ไว้ใจได้เท่าจารชน มิมีผู้ได้รางวัลเท่าจารชน มิมีเรื่องใดลึกลับเท่าจารชน ไม่ปราดปรื่องมิอาจใช้จารชน ไร้เมตตามิอาจบัญชาจารชน ไม่แยบยลมิอาจได้ความจริงจากจารชน แยบยลแสนจะแยบยล มิมีผู้แห่งใดใช้จารชนมิได้ แผนการจารชนมิทันใช้ มีผู้ล่วงรู้ก่อน ให้ตายทั้งจารชนและผู้รู้
กองทัพที่จะโจมตี เมืองที่จะเข้าบุก คนที่จะต้องฆ่า พึงรู้ชื่อแซ่ขุนทัพ คนสนิทซ้ายขวา ผู้สื่อสาร นายทวาร เหล่าบริวารก่อน ด้วยใช้จารชนเราสืบหามา พึงสืบหาจารชนที่มาจารกรรมในฝ่ายเรา ชักจูงด้วยอามิสมอบงานและปล่อยกลับ ฉะนั้น จึงได้ตัวจารชนซ้อนมาใช้ เพราะได้รู้ข่าวจากนี้ ฉะนั้น จึงสามารถใช้จารชนถิ่นกับจารชนใน เพราะได้รู้ข่าวจากนี้ ฉะนั้น การกระจายข่าวลวงของจารชนตาย จึงแจ้งแก่ข้าศึกได้ เพราะได้รู้ข่างจากนี้ ฉะนั้น จารชนเป็นจึงใช้ได้ตามกำหนด งานของจารชนทั้งห้า เจ้านายพึงต้อรู้ ที่รู้ก็จากจารชนซ้อน ฉะนั้น จึงพึงตกรางวัลจารชนซ้อนให้ถึงขนาด
อดีตกาล ความรุ่งเรืองของราชวงศ์ซาง เพราะมีอีจื้อในแคว้นเซี่ย ความรุ่งเรืองของราชวงศ์โจว เพราะมีหลี่อหยาในแคว้นอิน ฉะนั้น จึงมีแต่ประมุขผู้ปรีชาแม่ทัพผู้สามารถเท่านั้น ที่สามรถใช้ผู้มีปัญญาชั้นเลิศเป็นจารชน จนได้รับความสำเร็จใหญ่หลวงนี้เป็นเรื่องสำคัญของการศึก อันสามทัพพึงยึดถือเพื่อเคลื่อนพล
บทวิเคราะห์
ซุนวูได้เน้นความสำคัญของการใช้จารชนสืบสภาพข้าศึกเป็นพิเศษในบทนี้ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของการบัญชาทัพทำสงครามเรื่องหนึ่ง กองทัพจะต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารตามข่าวกรองที่จารชนเสนอให้ ซุนวูบริภาษผู้ตระนี่ “การให้ยศศักดิ์รางวัล” ไม่ยอมใช้จารชนสืบ สภาพข้าศึกอย่างเล็งเห็นความสำคัญว่า “ขาดเมตตาธรรมยิ่งนัก มิอาจเป็นแม่ทัพของไพร่พล มิอาจเป็นผู้ช่วยของเจ้านาย มิอาจเป็นเจ้านายผู้พิชิต” ได้
ในปัญหาการเสาะแสวงหาข่าวเพื่อ “รู้เขา” ทำอย่างไรจึงจะสามารถ “ล่วงรู้ก่อน” ซึ่งสภาพข้าศึกนั้น ซุนวูชี้ว่า “การล่วงรู้ก่อน มิควรพึ่งผีสางเทวดา มิควรยึดแบบอย่างในอดีต มิควรถือฤกษ์เบิกยาม แต่พึงเอาจากคน ผู้รู้สภาพข้าศึก” นี้เป็นการแสดงออกที่เด่นชัดแห่งความคิดวัตถุนิยมที่เรียบง่ายของเขา ซึ่งตรงกันข้ามราวฟ้ากับดิน ราวขาวกับดำกับทัศนะถือพรมลิขิตและทฤษฎีคิดได้เอง ซึ่งเป็นจิตนิยมอื่นๆทั้งปวง
ในปัญหาการใช้จารชน ซุนวูยังได้เสนอทัศนะ “ห้าจารชน ใช้พร้อมกัน ข้าศึกมิรู้เหตุ” เน้นให้ใช้จารชนทุกประเภท เพื่อเปิดแหล่งที่มาของข่าวกรองให้กว้างขวาง ทำให้ข้าศึกตกอยู่ในความงงงวยมิรู้ที่จะรับมือแต่ประการใด
ในขณะเดียวกัน ซุนวูก็ชี้ว่า “ไม่ปราดเปรื่องมิอาจใช้จารชน” “ไม่แยบยลมิอาจได้ความจริงจากจารชน” เน้นว่า ในขณะใช้จารชนนั้นจะต้องมีความฉลาดเฉียบแหลม กล้าหาญและประณีตรอบคอบ เพื่อป้องกันมิให้ถูกข้าศึกหลอกลวงและใช้เป็นประโยชน์
กลุ่มผลประโยชน์หรือชนชั้นที่ต่างกันย่อมจะมีบรรทัดฐานแห่งศีลธรรมที่แตก ต่างกัน ในบทนี้ ซุนวูถือว่าผู้ที่ไม่คำนึงถึง “ฝ่ายราษฎร์ต้องจ่าย ฝ่ายหลวงต้องใช้ วันละพันตำลึงทอง” “ยันกันอยู่หลายปีเพื่อชิงชัยวันเดียว” แต่กลับตระหนี่การให้ยศศักดิ์รางวัล ไม่ยอมใช้จารชนอย่างให้ความสำคัญ จนทำให้ต้องรบแพ้เพราะไม่รู้สภาพข้าศึกนั้นเป็นคน “ขาดเมตตาธรรมยิ่งนัก”
ขณะที่ซุนวูอธิบายถึงความสำคัญของการใช้จารชนนั้น ได้ขยายบทบาทของ “ใช้ผู้มีปัญญาชั้นเลิศเป็นจารชน” จนเกินเหตุ กระทั่งถือเอากรณีซางล้มเซี่ย โจวล้มอิน ให้เป็นบทบาทเอกชนของบุคลที่เรียกว่า “ผู้มีปัญญาชั้นเลิศ” เห็นชัดว่าไม่ถูกต้อง นี้เป็นการแสดงออกอีกอย่างหนึ่งแห่งทัศนะวีรชนสร้างประวัติศาสตร์ของซุนวู