การทำศึก

บทที่ 2 การทำศึก

การทำศึก
การทำศึก

บทที่ 2 การทำศึก อันหลักแห่งการบัญชาทัพนั้น ต้องใช้รถเร็วพันคัน รถหุ้มหนังพันคัน พลรบสิบหมื่น ขนเสบียงพันลี้ ค่าใช้จ่ายในและนอกประเทศ ค่าใช้จ่ายการทูต ค่าซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ ค่ารถรบเสื้อเกราะ ต้องสิ้นเปลืองวันละพันตำลึงทองดังนี้ จึงจะเคลื่อนพลสิบหมื่นออกรบได้

เมื่อรบพึงชนะเร็ว ยืดเยื้อกำลังก็เปลี้ยขวัญทหารก็เสีย ตีเมืองจักไร้พลัง ทำศึกนอกประเทศนาน ในประเทศจักขาดแคลน เมื่อกำลังเปลี้ยขวัญทหารเสีย สูญสิ้นทั้งไพร่พลและเศรษฐกิจ เจ้าครองแคว้นอื่น จักฉวยจุดอ่อนเข้าบุกรุก แม้จะมีผู้เยื่ยมด้วยสติปัญญาก็สุดจะแก้ไขให้กลายดี

เคยฟังว่า ทำศึกพึงชนะเร็วแม้จะไม่ดีนัก แต่ไม่เคยเห็นว่า มีการทำศึกที่ชาญฉลาดทว่าต้องยืดเยื้อ ส่วนที่ว่าทำศึกยืดเยื้อเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ ก็ไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้น ผู้มิรู้ผลร้ายแห่งการทำศึกอย่างถ่องแท้ ย่อมไม่สามารถรู้ผลดีแห่งการทำศึกอย่างถ่องแท้ ได้เช่นกัน

ผู้สันทัดในการบัญชาทัพ จักเกณฑ์พลมิซ้ำสอง ส่งเสบียงมิซ้ำสาม ใช้ยุทโธปกรณ์ประเทศตน เอาเสบียงจากข้าศึก อาหารของกองทัพจึงพอเพียง
ประเทศชาติยากจนเพราะส่งเสบียงไกลให้กองทัพ ส่งเสบียงไกล ราษฎรต้องลำเค็ญ ใกล้กองทัพของจักแพง ของแพงทรัพย์สินราษฎรจักขอดแห้ง เมื่อพระคลังร่อยหรอ ก็เร่งรีดภาษีไพร่พลสูญเสีย ทรัพย์สินสิ้นเปลือง ทุกครัวเรือนในประเทศจึงว่างเปล่า สมบัติราษฎรต้องสูญไปเจ็ดในสิบส่วน ทรัพย์สินของหลวงรถรบเสียหายม้าศึกอ่อนเปลี้ย เสื้อเกราะและเกาทัณฑ์ ของ้าวและโล่ดั้ง วัวควายและรถสัมภาระ ก็สูญไปหกในสิบส่วน

ฉะนั้น แม่ทัพผู้มีสติปัญญา พึงหาอาหารจากข้าศึก เอาข้าวข้าศึกหนึ่งจง เท่ากับของเราสิบจง เอาอาหารสัตว์หนึ่งสือ เท่ากับของเรายื่สิบสือ
ฉะนั้น เมื่อจะเข่นฆ่าข้าศึก พึงให้ไพร่พลโกรธแค้น เมื่อจักกวาดต้อนสินศึก พึงตั้งรางวัลไพร่พล ฉะนั้น ในศึกรถรบ เมื่อยึดรถรบข้าศึกได้กว่าสิบคัน พึงรางวัลผู้ยึดได้ก่อน แล้วให้เปลี่ยนธงบนรถ ขับร่วมในขบวนเรา พึงเลี้ยงดูเชลยให้ดี นี้ก็คือที่ว่ารบชนะข้าศึก เรายิ่งเข้มแข็ง
ฉะนั้น ทำศึกจึงสำคัญที่รบเร็ว ใช้สำคัญที่ยืดเยื้อ
ฉะนัน แม่ทัพผู้รู้การศึก จึงเป็นผู้กุมชะตากรรมของทวยราษฎร์ เป็นผู้บันดาลความสงบสุขหรือภยันตรายของประเทศชาติ

บทวิเคราะห์

ในบทนี้ ซุนวูได้เสนอความคิดรบชนะรวดเร็วที่ว่า “ทำศึกจึงสำคัญที่รวดเร็ว ใช้สำคัญที่ยืดเยื้อ” โดยเน้นหนักเริ่มต้นไปจากความสัมพันธ์ซึ่งต้องพึงพาอาศัยในระหว่างกำลังคน กำลังวัตถุและกำลังทรัพย์ อันนับเป็นการแสดงออกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งการใช้ทัศนะวัตถุนิยมเรียบง่ายของเขาไปค้นคว้าสงคราม

ในยุคที่ซุนวูดำรงชีวิตอยู่ กำลังการผลิตของสังคมต่ำมาก การคมนาคมขนส่งไม่สะดวกเป็นอย่างยิ่ง เมื่อบวกกับขนาดของสงครามได้ขยายใหญ่ขึ้น เพืยงแต่ขยับตัวก็ “ต้องสิ้นเปลืองวันละพันตำลึงทอง” ถ้าหากปล่อยให้ยือเยื้อไปก็จะ “สูญสิ้นทั้งไพร่พลและเศรษฐกิจ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานั้น แคว้นต่างๆกำลังผนวกดินแดนกลืนกินกันอย่างดุเดือด ถ้าหากสงครามยืดเยื้อต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ก็จะเกิดสถานการณ์อันตรายซึ่ง “เจ้าครองแคว้นอื่นจักฉวยโอกาสเข้าบุกรุก” ได้ทุกเวลา ในสถาพเช่นนี้การที่ซุนวูคิดที่จะชนะเร็วก็มีเหตุผลที่แน่นอนของเขาอยู่ อย่างไรก็ดี การรบชนะเร็วหรือการรบชนะช้าก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เราประเมินไว้แล้วว่า ฝ่ายเราควรจะทำอย่างไรกับสงครามให้มีประโยชน์กับเราให้มากที่สุด

เพื่อแก้ความขัดแย้งระหว่างความต้องการของสงครามและความยากลำบากในการส่ง กำลังบำรุงของแนวหลัง ซุนวูได้เสนอหลักการ “เอาเสบียงจากข้าศึก” มีความเห็นในช่วงชิงแก้ปัญหาการส่งกำลังบำรุงในประเทศข้าศึกนั้นเอง ในขณะเดียวกัน เขายังเสนอความคิด “รบชนะข้าศึก เรายิ่งเข้มแข็ง” มีความเห็นว่าควรจะให้รางวัลแก่ไพร่พล ปฏิบัติต่อเชลยข้าศึกด้วยดี และใช้สินศึกมาเสริมเพิ่มกำลังของตนเองให้ใหญ่โตขึ้น ความคิดและหลักการเหล่านี้ ล้วนแต่มีข้อดีที่จะนำมาใช้ได้ทั้งสิ้น
ในตอนสุดท้ายของบทนี้ ซุนวูได้เน้นบทบาทอันใหญ่หลวงของแม่ทัพ นับว่าถูกต้อง แต่การที่เขาขยายบทบาทของ “แม้ทัพผู้รู้การศึก” ไปถึงขั้นว่า “เป็นผู้กุมชะตากรรมของทวยราษฎร์ เป็นผู้บันดาลความสุขหรือภยันตรายของประเทศชาติ” โดยไม่เห็นบทบาทของไพล่พลและทวยราษฎร์นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นจุดอ่อน และเป็นการสะท้อนออกของทัศนะประวัติศาสตร์ที่ถือวีรชนเป็นผู้กำหนดทุกสิ่ง ทุกอย่างของเขา อันไม่ตรงกับความเป็นจริง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *