ราชวงศ์เซี่ย (2000-1500 ก่อนคริสตกาล) ราชวงศ์เซี่ยถือเป็นราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีนที่เริ่มระบบการปกครองแบบ พ่อสืบทอดให้ลูก จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของซือหม่าเชียน ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนมักเริ่มนับยุคสมัยเซี่ยโดยเริ่มจากเซี่ยหวี่ (ยวี่) ถึงลวี่กุ่ย หรือเซี่ยเจี๋ย ในระยะเวลา 400 กว่าปี มีกษัตริย์ครองบัลลังก์ 17 พระองค์ มีการสืบทอดอำนาจถึง 14 ชั่วคน
การก่อตั้งราชวงศ์เซี่ยซึ่งมีรากฐานของอำนาจจากการยึดครองทรัพย์สินเป็นของ ส่วนตัว เป็นสัญญาณว่าสังคมยุคดึกดำบรรพ์ที่ทรัพย์สินเป็นของสาธารณะอันยาวนาน กำลังถูกแทนที่ด้วยสังคมแบบยึดครองทรัพย์สินส่วนตัว และนี่ก็เป็นวิวัฒนาการในประวัติศาสตร์ช่วงเวลาหนึ่ง ทว่า โดยปกติการก่อเกิดของระบบใหม่ มักต้องเผชิญกับแรงต้านจากฝ่ายอนุรักษ์ เมื่อเซี่ยฉี่ บุตรของเซี่ยหวี่ (ยวี่) เข้ารับสืบทอดตำแหน่งของบิดา ก็ได้เชิญบรรดาหัวหน้าชนเผ่าจากดินแดนต่าง ๆ มาร่วมในงานเลี้ยง เพื่อรับรองการขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่ของเขา
กลุ่มฮู่ซื่อ ไม่พอใจเซี่ยฉี่ ที่ยกเลิกระบบ การคัดสรรผู้มีความสามารถเพื่อดำรงตำแหน่งผู้นำที่มีอยู่เดิม จึงไม่ได้เข้าร่วมในงานเลี้ยงนั้น เซี่ยฉี่จึงยกกองทัพออกไปปราบฮู่ซื่อ โดยทำศึกกันที่กาน ฮู่ซื่อพ่ายแพ้ถูกลบชื่อออกไป ชัยชนะจากการรบครั้งนี้ ทำให้ก้าวแรกของระบบอำนาจใหม่นี้แข็งแรงขึ้น
ระบบการปกครองแบบใหม่นี้ค่อย ๆพัฒนาขึ้น ขณะที่ผู้ปกครองคนใหม่ ต้องเผชิญปัญหาการขาดประสบการณ์ในการปกครอง รากฐานของอำนาจที่มาจากการยึดครองทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว ในช่วงระยะของการฟูมฟักของการก้าวขึ้นสู่อำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ สภาพการขูดรีด แย่งชิง และความกระหายในการเสพสุขของผู้ปกครองก็ยังเป็นไปอย่างรุนแรง และย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจในกลุ่มผู้ปกครอง ด้วยกันเองได้
ดังนั้น เมื่อเซี่ยฉี่ตายลง บุตรชายของเขาทั้งห้าคนก็แย่งชิงอำนาจกัน ผลคือเมื่อไท่คัง ได้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากฉี่ (ครองราชย์ 29 ปี) ก็ไม่สนใจดูแลกิจการงานเมือง เฝ้าหมกมุ่นอยู่กับสุรานารี ต่อมาจึงถูกอี้ ซึ่งเป็นผู้นำของรัฐฉง สบโอกาสเข้าแย่งชิงอำนาจ ภายหลังเมื่ออี้ถูกขุนนางของเขาที่ชื่อหานจั๋ว สังหารแล้ว เส้าคัง ( ครองราชย์ 21 ปี) บุตรชายของไท่คังซึ่งหลบหนีไปรัฐโหย่วหวี ได้รับความช่วยเหลือจากโหย่วหวี รวบรวมขุมกำลังเก่าของเซี่ยขึ้นใหม่ แล้วอาศัยช่วงเวลาที่ภายในของกลุ่มหานจั๋วเกิดความวุ่นวาย เข้าช่วงชิงอำนาจเพื่อกอบกู้ราชวงศ์เซี่ยกลับคืนมา
นี่คือเหตุการณ์ที่เป็นหลักหมายทางประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์เซี่ย ที่เรียกขานกันว่า ‘ ไท่คังเสียเมือง อี้ยึดครองเซี่ย และเส้าคังฟื้นฟูเซี่ย
เมื่อถึงปลายราชวงศ์เซี่ย ศูนย์อำนาจภายในเกิดความวุ่นวาย ภายนอกก่อหวอดไม่หยุดยั้ง ข้อขัดแย้งทางชนชั้นนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเซี่ยเจี๋ย ได้ขึ้นครองบัลลังก์(ช่วงก่อนคริสศักราช 1763 ครองราชย์ 52 ปี) ก็ไม่คิดจะปฏิรูปแก้ไขสิ่งใด ยังคงเห่อเหิมฟุ้งเฟ้อในอำนาจ โดยสั่งให้ก่อสร้างตำหนักพระราชวัง ใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือยมากมาย ร่ำดื่มสุรานารีทุกคืนวัน โดยไม่สนใจใยดีต่อความทุกข์ยากของเหล่าประชาราษฎร์
ไพร่ฟ้าจึงพากันก่นด่าประณาม เหล่าขุนนางที่จงรักภักดี กลับถูกสั่งคุมขังหรือประหารชีวิต บรรดาเจ้านายชั้นสูงต่างก็พากันเอาใจออกห่าง เซี่ยเจี๋ยจึงตกอยู่ในฐานะโดดเดี่ยว ซางทัง ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ซาง เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงใช้ข้ออ้าง ‘ ฟ้ากำหนด ‘ กล่าวหาว่าเซี่ยทำผิดต่อฟ้า จึงต้องถูกลงทัณฑ์ โดยขอให้ทุกคนรวมพลังกันเข้าโจมตี เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งฟ้า การศึกระหว่างซางทังและเซี่ยเจี๋ยที่หมิงเถียว ซางทังชนะ เจี๋ยหลบหนีไป และเสียชีวิตที่หนันเฉา ราชวงศ์เซี่ยจึงถึงกาลอวสาน
รัฐที่ยิ่งใหญ่มากว่า 400 ปี ต้องถูกรัฐเล็ก ๆล้มล้าง ย่อมเป็นเหตุให้ผู้คนให้ความสนใจและทำการศึกษาหาเหตุผล ภายหลังจึงมีคำกล่าวว่า ‘ ชาวยิน (หรือซาง) ได้ยึดอำนาจการปกครองจากราชวงศ์เซี่ย และให้ลูกหลานของชาวยินยึดถือการสิ้นชาติของชาวเซี่ยเป็นบทเรียนเตือนใจ ต่อมาจึงมีการใช้วลีนี้ในความหมายว่า เหตุการณ์ความพ่ายแพ้หรือความล้มเหลวของคนรุ่นก่อน เป็นอุทาหรณ์เตือนใจคนรุ่นหลัง
เนื่องจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์เซี่ยมีหลงเหลืออยู่เป็น จำนวนน้อยมาก ดังนั้น ที่แท้แล้วในประวัติศาสตร์มีราชวงศ์เซี่ยอยู่จริงหรือไม่ ยังคงไม่ได้รับการยืนยัน ทว่า การเรียงลำดับรุ่นของราชวงศ์เซี่ยในหนังสือ ‘ บันทึกประวัติศาสตร์ ตอน ราชวงศ์เซี่ย นั้น มีการเรียงลำดับยุคผู้ปกครองที่ชัดเจน เช่นเดียวกับใน “ บันทึกชาวยิน ” ซึ่งระบุลำดับรัชสมัยของราชวงศ์ซางนั้นได้รับการยืนยันความถูกต้องจากการขุด พบจารึกบนกระดองเต่าที่เมืองอันหยางแล้ว
ดังนั้น บันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงราชวงศ์เซี่ย จึงน่าจะเป็นที่เชื่อถือได้ นักประวัติศาสตร์จีนโดยมากจึงให้ความเชื่อถือต่อ ‘ บันทึกประวัติศาสตร์ ตอน ราชวงศ์เซี่ย เล่มนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ นักโบราณคดีที่ได้ทำการศึกษาโบราณวัตถุในยุคสมัยซาง ซึ่งขุดค้นได้จากเมืองอันหยางและเจิ้นโจว ก็มีพื้นฐานในการศึกษาที่ดีขึ้น หากกล่าวถึงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมเซี่ยแล้ว ก็ได้แต่หวังว่าจะสามารถอาศัยการค้นคว้าทางโบราณคดีเป็นเครื่องมือในการค้น หาวัฒนธรรมที่หลงเหลืออยู่ของสมัยเซี่ย เพื่อฟื้นฟูปรับปรุงประวัติศาสตร์สมัยเซี่ย
การใช้ระบบทาสครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน
ราชวงศ์เซี่ยเป็นราชวงศ์แรกที่ใช้ระบบทาสในประวัติศาสตร์จีน พวกทาสนี้นอกจากที่จะต้องทำงานหนักแล้ว ยังถูกใช้ในการประกอบพิธีบูชายัญ จะเห็นได้จากการขุดพบซากกำแพงเมืองซึ่งอยู่ในยุควัฒนธรรมหลงซัน ได้มีการขุดค้นพบโครงกระดูกซึ่งถูกในในการประกอบพิธีบูชายัญกว่า 10 หลุม ภายในมีโครงกระดูกของเด็กและวัยกลางคนจำนวนมาก หลุมที่มีน้อยที่สุดจะมีประมาณ 2-3 ศพ มากที่สุด 6-7 ศพ บางศพศีรษะกับร่ายกายถูกตัดขาด บางศพขาแขนขาด สภาพที่พบเห็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมของระบบทาสในสมัยนั้น
ด้านเกษตรกรรม เครื่องมือที่ใช้ในการทำไร่น่าส่วนใหญ่จะทำจากไม้ และหิน มีการก่อสร้างชลประทานเพื่อการเกษตร
วัฒนธรรมราชวงศ์เซี่ย
ในสมัยราชวงศ์เซี่ยได้เข้าสู่ยุคทองสำริดถัดจากยุคหินแล้ว ชาวเซี่ยรู้จักการทำเหมืองแร่และการหลอมโลหะ เมื่อเทียบกับยุคหินแล้วความสามารถในการผลิตได้พัฒนาเป็นอย่างมาก จึงเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรมาก ว่ากันว่าการหมักเหล้าก็เริ่มต้นในสมัยราชวงศ์เซี่ยนี้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ชาวเซี่ยยังมีปฏิทินเป็นของตัวเอง อันเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความสามารถทางวัฒนธรรมของชาวจีนในสมัยนั้น
เทพนิยายในสมัยราชวงศ์เซี่ย
โฮ้วอี้ยิงดวงอาทิตย์
โฮ้วอี้เป็นผู้ที่มีความสามารถในการยิงธนู เล่ากันว่ามีอยู่ปีหนึ่งมีดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นมาบนท้องฟ้าพร้อมกันถึง 10 ดวง อากาศร้อนมากจนทำให้น้ำในแม่น้ำแห้งขอด ต้นไม้ก็เหี่ยวเฉาตายสิ้น ดังนั้นโฮ้วอี้จึงง้างคันศรยิงดวงอาทิตย์ดวงหนึ่งล่วงลงมา เมื่อดวงอาทิตย์ดวงนั้นตกลงมาถึงพื้นพลันกลายเป็นนกกายักษ์สีทองตัวหนึ่ง โฮ้วอี้ยิงธนูไปทั้งสิ้นเก้าดอก จนเหลือดวงอาทิตย์เพียงดวงเดียวบนท้องฟ้า
ในนิทานโฮ้วอี้เป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ แต่ประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ โฮ้วอี้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เนื่องจากเค้ารู้สึกว่าตัวเองเก่งกล้ามากจึงคิดกบฏ จนถูกประหารชีวิตไป
ฉางเอ๋อบินสู่ดวงจันทร์
ฉางเอ๋อเป็นภรรยาของโอ้วอี้ มีรูปโฉมงดงาม เล่ากันว่าเนื่องจากโฮ้วอี้ยิงดวงอาทิตย์สร้างคุณประโยชน์ไว้มาก ดังนั้นหวังหมู่เหนี๋ยงเหนี่ยง เจ้าแม่สวรรค์ จึงประทานอายุวัฒนะให้แก่โฮ้วอี้ แต่โฮ้วอี้ยังมิทันได้กินยา เผอิญฉางเอ๋อกินเข้าไปก่อน เมื่อกินยาเข้าไปแล้วฉางเอ๋อก็รู้สึกตัวเบาและค่อยๆลอยสูงขั้นสู่ท้องฟ้า ในที่สุดก็ลอยเข้าไปสู่ดวงจันทร์ ก่อนเธอไปได้อุ้มกระต่ายขาวตัวหนึ่งไปด้วย จึงทำให้ฉางเอ๋อกลายเป็นเทวีที่คอยดูแลดวงจันทร์นั้นเอง