ราชวงศ์เว่ย หรือ สามก๊ก (ค.ศ. 220-280) ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เกิดกบฏโพกผ้าเหลืองทางภาคเหนือ เข้าล้มล้างราชวงศ์ฮั่นตะวันออก บรรดาเจ้าเมืองที่มีกำลังกล้าแข็ง ต่างก็ฉกฉวยโอกาสนี้พากันตั้งตนเป็นใหญ่ ต่อสู้แย่งชิงอำนาจ จนท้ายสุดหลงเหลือเพียง 3 กลุ่มอำนาจใหญ่นั่นคือ ก๊กวุ่ย ของโจโฉ (เฉาเชา) ก๊กสู หรือจ๊กก๊ก ของเล่าปี่ (หลิวเป่ย) และก๊กอู๋ หรือง่อก๊ก ของซุนกวน (ซุนฉวน) หรือที่เรารู้จักกันในนามของ ‘ สาม ก๊ก ‘ นั่นเอง
สภาพสามเส้าคานอำนาจเหนือใต้ โจโฉตั้งตัวเป็นวุ่ยอ๋อง ต่อมาปีค.ศ. 200 โจโฉสิ้นชีวิต เฉาผี่หรือโจผี ผู้เป็นบุตรชายจึงบีบบังคับให้ฮั่นเสี้ยนตี้ (พระเจ้าเหี้ยนเต้) สละราชบัลลังก์ แล้วสถาปนารัฐวุ่ยขึ้น ในปีถัดมา เล่าปี่ก็ประกาศสถาปนาตั้งตนเป็นฮ่องเต้ที่เมืองเฉิงตู ใช้ชื่อรัฐฮั่น (โดยมากเรียกสูหรือสูฮั่น) ถึงปีค.ศ. 229 ซุนกวนหรืออู๋อ๋องก็ตั้งรัฐอู๋ ประกาศตนเป็นฮ่องเต้เช่นกัน ดังนั้นจึงเกิดเป็นขุมกำลังสามเส้า กล่าวคือ วุ่ยครอบครองดินแดนทางตอนเหนือ สูครองดินแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนอู๋ครองดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ โดยสองแคว้นทางใต้ คือรัฐสูร่วมมือกับรัฐอู๋ต่อต้านรัฐวุ่ยทางภาคเหนือที่มีกำลังเข้มแข็งที่ สุด
พัฒนาการและความล่มสลาย ในช่วงเริ่มต้น ทั้งสามรัฐต่างก็ทุ่มเทให้กับการบริหารบ้านเมือง ฟื้นฟูระเบียบทางสังคมและพัฒนาเศรษฐกิจของตน รัฐที่มีผลงานโดดเด่นก็คือ วุ่ยก๊ก ที่นำโดยโจโฉ (เฉาเชา) ซึ่งเริ่มจากการฟื้นฟูผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการเกณฑ์กำลังทหารที่ประจำในท้องที่ทำการเพาะปลูกเป็นเสบียงต่อไป จัดการปฏิรูประบบการปกครองที่เคยเป็นจุดอ่อนของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก นั่นคือ จำกัดอำนาจของเหล่าเจ้าที่ดิน กวาดล้างอำนาจของบรรดาขุนนางและเชื้อพระวงศ์ เพื่อดึงดูดการเข้าร่วมจากกลุ่มชนชั้นระดับกลางและล่าง มีการแบ่งขุนนางปกครองท้องถิ่นออกเป็น 9 ระดับชั้น เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้มาจากตระกูลสูงได้มีโอกาสเข้ามามีอำนาจทางการ เมือง ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง
ด้านศิลปะและวิทยาการนั้นก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก อาทิ ทางการแพทย์จีนได้ปรากฏบุคคลสำคัญคือ หัวถัว (ฮวาโถว) หรือหมอเทวดาฮูโต๋ ที่เป็นเอกในการผ่าตัด และกล่าวกันว่ายังมีการเริ่มใช้ยาชา (หมาเฟ่ยซ่าน)ในสมัยนี้อีกด้วย สำหรับด้านศาสนานั้น เนื่องจากลัทธิเต๋าของกองกำลังโพกผ้าเหลืองประสบความพ่ายแพ้ทางการเมือง จึงตกอยู่ในภาวะอ่อนแอลง ขณะที่ศาสนาพุทธที่มีการเผยแพร่เข้ามาในช่วงปลายยุคฮั่นตะวันออก ก็ฟูมฟักตัวเองในนครหลวงลั่วหยาง
หลังจากวุ่ยฉีหวัง ยุวกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ศูนย์กลางอำนาจในรัฐวุ่ยก็เริ่มคลอนแคลน เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของเฉาส่วง และซือหม่าอี้ (สุมาอี้) ที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เฉาส่วงพ่ายแพ้ถูกสำเร็จโทษ ตระกูลซือหม่าซึ่งนำโดยซือหม่าอี้ผู้เป็นบิดา ซือหม่าซือ และซือหม่าเจา สองคนพี่น้อง เข้ากุมอำนาจทางการเมืองทั้งหมดไว้ได้ ระหว่างนั้น ในปีค.ศ. 263 รัฐวุ่ยภายใต้การนำทัพของตระกูลซือหม่าบุกเข้าปราบรัฐสู ของเล่าปี่ หลังจากนั้น 2 ปี ซือหม่าเอี๋ยน บุตรของซือหม่าเจาก็บีบให้วุ่ยฉีหวังสละราชบัลลังก์ และสถาปนาราชวงศ์จิ้น( ? ) ขึ้นแทนวุ่ย
การศึกปราบกองกำลังโพกผ้าเหลือง จ๊กก๊ก นำโดยเล่าปี่ ก็ได้จูกัดเหลียง ขงเบ้งเป็นที่ปรึกษาและเสนาบดี ในช่วงเวลาก่อนหลังการสถาปนารัฐสูได้ไม่นาน เล่าปี่ก็ต้องสูญเสียขุนพลคู่ใจคนสำคัญ คือ กวนอวี่หรือกวนอู และจางเฟยหรือเตียหุย ไปในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นเหตุให้กำลังทางทหารอ่อนโทรมลง อีกทั้งเล่าปี่ไม่ฟังคำทัดทานของเหล่าเสนาอำมาตย์ เร่งทำศึกกับง่อก๊ก เพื่อแก้แค้นให้กับกวนอู สุดท้ายพ่ายแพ้ย่อยยับ จากการศึกครั้งนี้ทำให้เล่าปี่สูญเสียไพร่พลไปกว่า 75 หมื่นนายเลยทีเดียว เล่าปี่ล้มป่วยเสียชีวิตที่เมืองหย่งอัน บุตรชายหลิวฉาน (เล่าเสี้ยน) หรืออาเต๊า ขึ้นครองราชย์ต่อมา โดยมีขงเบ้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทน
ขงเบ้งเห็นว่ารัฐสูอยู่ในสภาพอ่อนแอและลำบากจากการคุกคามรอบข้าง พร้อมกันนั้นเขตพื้นที่ทางตอนใต้ (ปัจจุบันคือเสฉวนและหยุนหนันของจีน) เกิดความวุ่นวาย จึงต้องเจรจาสงบศึกกับง่อก๊ก เมื่อถึงปีค.ศ. 225 ขงเบ้งยกทัพลงใต้ ทำศึกพิชิตใจเมิ่งฮั่ว หรือ เบ้งเฮ็ก หัวหน้าชนเผ่าพื้นเมือง นำความสงบสุขคืนมาอีกครั้ง หลังจากนั้น ขงเบ้งได้แต่งตั้งชนเผ่าพื้นเมืองบางส่วนเข้ารับราชการและกองทัพ อีกทั้งมีการนำวัวและม้าที่เป็นพาหนะพื้นเมืองเข้ามาใช้ในกองทัพอีกด้วย นับแต่นั้นมา ความสัมพันธ์กับชนเผ่าพื้นเมืองทางตอนใต้ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ขณะเดียวกันภาคการเกษตรและหัตถกรรมได้รับการฟื้นฟูก้าวหน้า บ้านเมืองเข้มแข็งขึ้น เพื่อเตรียมรับการทำศึกกับวุ่ยก๊กทางตอนเหนือในอีกหลายปีต่อมา ขงเบ้งที่เร่งทำศึกแย่งชิงดินแดนภาคเหนือกับวุ่ยก๊กเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายล้มป่วยเสียชีวิตกลางคัน จ๊กก๊กต้องถอยทัพกลับ นับแต่นั้นมาจ๊กก๊กก็จำต้องพลิกสถานะกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ สุดท้ายในปีค.ศ. 263 วุ่ยก๊กยกทัพเข้ารวมจ๊กก๊กเป็นผลสำเร็จ
ง่อก๊ก เมื่อครั้งกองกำลังโพกผ้าเหลืองลุกขึ้นก่อการจราจล ซุนเจี้ยนหรือซุนเกี๋ยน ที่เป็นขุนนางมีหน้าที่เข้าปราบปรามในพื้นที่เขตเจียงหนัน เมื่อครั้งอ้วนเสี้ยวและพวกร่วมมือปราบตั๋งโต๊ะ ซุนเจียน (ซุนเกี๋ยน) ก็เข้าร่วมด้วย ต่อมาเมื่อซุนเจียน (ซุนเกี๋ยน) เสียชีวิต ซุนเช่อ หรือซุนเซ็ก บุตรชายเข้าคุมกองทัพต่อ ปี 194 ได้รับความช่วยเหลือจากโจวอวี่หรือจิวยี่ เสริมกำลังทางทหารให้เข้มแข็งขึ้น เริ่มขยายอำนาจออกสู่เจียงตงทางตะวันออกของลุ่มน้ำแยงซี ต่อมาเมื่อโจโฉเข้าควบคุมฮั่นเสี้ยนตี้ (พระเจ้าเหี้ยนเต้) ไว้ได้ ซุนเช่อ (ซุนเซ็ก) ก็หันมาเข้ากับโจโฉ และได้รับการอวยยศเป็นอู๋โหว หลังจากซุนเช่อ (ซุนเซ็ก) สิ้น ซุนฉวนหรือซุนกวน ผู้เป็นน้องชายก็เข้าสืบทอดอำนาจต่อมา ภายหลังการศึกที่ชื่อปี้ เป็นเหตุให้โจโฉต้องถอยร่นกลับไปยังภาคเหนือ ซุนกวนก็เข้าคุมพื้นที่เขตตะวันออกเฉียงใต้ไว้ได้ เกิดเป็นกองกำลังสามเส้าต่างคุมเชิงกัน
ปัญหาที่ง่อก๊กต้องเผชิญคือ ต้องคอยป้องกันชาวเขาเผ่าเยว่ ที่คอยก่อความไม่สงบ และมีแรงกดดันจากกองกำลังของวุ่ยก๊กทางตอนเหนือ ในปีค.ศ. 234 ภายหลังดำเนินยุทธการปิดล้อม ทำให้ชาวเขาเผ่าเยว่วางอาวุธยอมแพ้ จากนั้นมา ชาวฮั่นและชาวเผ่าเยว่ก็มีการหลอมรวมทางชนชาติเข้าด้วยกัน สำหรับปัญหากองกำลังของวุ่ยก๊กที่กดดันอยู่ทางตอนเหนือ ก็มีการผลัดกันรุกรับ หลังจากขงเบ้งเสียชีวิตและวุ่ยก๊กปราบจ๊กก๊กลงได้แล้ว วุ่ยก๊กก็เพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อง่อก๊กมากขึ้น แต่เนื่องจากความสามารถทางน้ำของกองทัพวุ่ยก๊กมีจำกัด การสู้รบจึงยืดเยื้อยาวนานต่อมาอีกหลายปี
ในช่วงเวลา 52 ปีของการสถาปนาวุ่ยก๊กนี้ ได้มีการบุกเบิกที่ดินทำการเกษตร การเมืองการปกครองก็มั่นคงมีเสถียรภาพ ดินแดนแถบเจียงหนันได้มีการพัฒนาด้านกิจการต่อเรือและการขนส่งทางน้ำอย่าง มาก แม่น้ำสายต่าง ๆได้รับการเชื่อมต่อจนกลายเป็นเส้นทางการคมนาคมสายหลักจากตะวันออกสู่ดินแดน ทางตอนใต้ ถึงกับมีการเดินเรือขึ้นเหนือถึงเหลียวตง ทิศใต้ล่องถึงหนันไห่หรือเขตทะเลใต้ เมื่อถึงปีค.ศ. 230 ได้มีคณะเดินเรือไปถึงเกาะไต้หวันเป็นครั้งแรกเท่าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ราชทูตจากง่อยังเดินทางล่องใต้ลงไปจนถึงแถบทางตอนใต้ของเวียดนามและอาณาจักร ฟูนัน (กัมพูชาในปัจจุบัน) เป็นต้น ได้มีการเผยแพร่ของพุทธศาสนาจากลั่วหยางลงสู่ดินแดนทางตอนใต้ พร้อม ๆ กับลัทธิเต๋า
หลังจากซุนกวนเสียชีวิตในปีค.ศ. 252 ง่อก็อ่อนแอลง ในขณะที่วุ่ยที่นำโดยตระกูลซือหม่า (สุมา) นับวันจะมีกองกำลังเข้มแข็งขึ้น หลังจากรวมจ๊กเข้าไว้ในปีค.ศ. 263 และผลัดแผ่นดินสถาปนาราชวงศ์จิ้นในปีค.ศ. 265 ราชวงศ์จิ้นต้องวุ่นวายอยู่กับการวางรากฐานการปกครองให้กับราชวงศ์ใหม่ เป็นเหตุให้ง่อยังสามารถประคองตัวมาได้อีกระยะเวลาหนึ่ง เมื่อถึงปีค.ศ. 269 จิ้นที่ได้ผู้เชี่ยวชาญทางน้ำจากจ๊ก เริ่มฝึกกองกำลังทางน้ำ เมื่อถึงปี ค.ศ. 279 กองทัพจิ้นก็ยกประชิดง่อทางตอนเหนือของลำน้ำแยงซี และสามารถเข้าถึงเมืองหลวงเจี้ยนเย่ได้ในปีค.ศ. 280 ง่อก๊กก็ถึงกาลล่มสลาย