โจวอู่อ๋อง

ราชวงศ์โจวตะวันตก

โจวอู่อ๋อง
โจวอู่อ๋อง

ราชวงศ์โจวตะวันตก เล่ากันว่าพระเจ้าโจวเหวินหวัง (จีซาง) เป็นเจ้าเมืองที่มีความสามารถอีกทั้งมีคุณธรรมสูงส่ง ท่านได้พัฒนาเครื่องหมาย ปา กว้า ที่ฝูซีประดิษฐ์ขึ้นมา เป็นเครื่องหมาย 64 เครื่องหมาย เพื่อนำมาอธิบายกฎการเปลี่ยนแปลงของบุคคล เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม จีซางได้รวบรวมสิ่งที่พระองค์ได้ค้นพบมาเป็นหนังสือชื่อว่าโจวอี้

โจวมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เดิมอาศัยอยู่ในแถบเสียกาน ต่อมาอพยพไปตั้งรกรากยังโจวหยวน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอำเภอฉีซานมณฑลส่านซีของจีน เมื่อ 1100 ปีก่อนคริสต์ศักราชชนเผ่าต้นตระกูลโจวก็มีขุมกำลังเข้มแข็งขึ้น พวกเขาทางหนึ่งรวบรวมรัฐเล็ก ๆรอบข้างเข้ามา อีกทางหนึ่งโยกย้ายนครหลวงจากโจวหยวนมายังดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเฟิง หรืออำเภอฉางอานในปัจจุบัน โดยตั้งเป็นเมืองเฟิงจิง จากนั้นแพร่ขยายอิทธิพลไปทางทิศตะวันออก ทำให้เกิดข้อพิพาทกับราชวงศ์ซัง (ซาง) ขณะนั้นราชวงศ์ซัง (ซาง) อยู่ในรัชสมัยของตี้ซิ่งหรือซังโจ้วนั้น ได้กักขังจีซาง (หรือต่อมาเป็นโจวเหวินหวังผู้นำของราชวงศ์โจว)ไว้ที่โหย่วหลี่มาระยะเวลา หนึ่งแล้ว ขุนนางของโจวถวายหญิงงามและเพชรนิลจินดามากมายให้แก่ซัง ซังโจ้วจึงยอมปล่อยตัวจีซาง (ซีป๋อชั่ง) เมื่อ จีซาง (ซีป๋อชั่ง) กลับถึงรัฐของตน ก็เร่งระดมพลเพื่อยกทัพบุกซัง ในเวลานั้น การเมืองภายในราชวงศ์ซัง (ซาง) ล้มเหลวฟอนเฟะ เกิดการแตกแยกทั้งภายในนอก โจวเหวินหวัง เห็นว่าสถานการณ์ใกล้ถึงจุดจบแล้ว แต่ยังไม่ทันพบกับชัยชนะ ขณะพระองค์ใกล้สิ้นลมได้กำชับสั่งเสียให้บุตรชายไท่จื่อฟา (จีฟา) หรือโจวอู่หวัง รวบรวมไพร่พลยกทัพบุกซัง ในตอนที่พระองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ได้พบกับผู้มีความสามารถผู้หนึ่ง นามว่า เจียงจื่อหยา หรือ เจียงไท่กง (หรือบางคนเรียก เจียง กู แหย) ภายใต้การช่วยเหลือของเจียงจื่อหยา ทำให้ราชโอรสของพระเจ้าโจวเหวินหวัง ซึ่งก็คือพระเจ้าโจวอู่หวัง (จีฟา) เมื่อขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากโจวเหวินหวัง ก็กรีฑาทัพครั้งใหญ่โดยมี พลรถ 300 พลทหารราบ 450,000 หน่วยกล้าตาย 3,000 มุ่งสู่ตะวันออก ระหว่างทางบรรดารัฐเล็ก ๆได้แก่ ยง สู เชียง จง เวย หลู เผิง ผู เป็นต้น ต่างยอมสวามิภักดิ์เข้าร่วมกับกองทัพ โจวอู่หวังได้ประกาศโทษทัณฑ์ความผิดของซังโจ้ว ซังโจ้วจึงจัดทัพ 170,000 ออกมาสู้รบด้วยโจวอู่หวัง ทว่าเหล่าทหารของซังไม่มีกำลังใจสู้รบ ต่างพากันทิ้งอาวุธหลบหนี เป็นเหตุให้ทัพโจวได้ชัยชนะ ฝ่ายซางโจ้วหลบหนีไป ภายหลังเสียชีวิตที่ลู่ไถ ราชวงศ์ซางจึงล่มสลาย นับแต่นั้นมา ประวัติศาสตร์จีนก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์โจว

โจวอู่หวัง (จีฟา) เมื่อได้ชัยชนะเหนือซางแล้ว ก็เข้าครอบครองดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของซาง อีกทั้งยังปราบปรามรัฐเล็ก ๆ รอบข้าง ทว่าปัญหาอันหนักอึ้งที่โจวอู่หวัง (จีฟา) ต้องเผชิญก็คือการจะรักษาผืนแผ่นดินตะวันออกนี้ไว้ได้อย่างไร ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้นโยบาย ‘ เมืองหน้าด่าน ‘ โดยมอบหมายให้ญาติพี่น้องและขุนนางที่มีความดีความชอบออกไปปกครองยังดินแดน ต่าง ๆ ตั้งให้เป็นผู้ครองแคว้น โดยผู้ครองแคว้นจะได้รับอำนาจในการปกครองดินแดนรอบนอกผืนหนึ่ง อีกทั้งพวกเขาเหล่านั้นยังถือเป็นผู้พิทักษ์ราชสำนักโจวอีกด้วย

นอกจากนี้ โจวอู่หวังยังแต่งตั้งให้อู่เกิง บุตรของซังโจ้วดูแลแคว้นซัง เพื่อสามารถควบคุมชาวซังต่อไป โดยส่งน้องชายของเขา ได้แก่ ก่วนซู่ ไช่ซู่ และฮั่วซู่ ให้คอยตรวจสอบอู่เกิง นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งให้โจวกงตั้น ไปปกครองแคว้นหลู่ ส่วนเจียงซ่าง ไปปกครองแคว้นฉี และเส้ากงซื่อ ไปครองแคว้นเอี้ยน

หลังจากโจวอู่หวังสิ้นพระชนม์ เฉิงหวัง บุตรชายของเขาได้สืบทอดราชบัลลังก์ แต่เนื่องจากยังอยู่ในวัยเยาว์ จึงมอบหมายให้โจวกงตั้นหรือโจวกง เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เป็นเหตุให้ก่วนซู่และไช่ซู่ไม่พอใจโจวกง จึงปล่อยข่าวใส่ร้ายโจวกงกล่าวหาว่าวางแผนชิงบัลลังก์ ต่อมา อู่เกิงก็เข้าร่วมกับก่วนซู่และไช่ซู่รวบรวมแว่นแคว้นเล็ก ๆ ทางภาคตะวันออก อันได้แก่สวี เหยี่ยน ป๋อกู เป็นต้น เพื่อเป็นฐานก่อการกบฏ โจวกงจึงต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม โดยใช้เวลา 3 ปี สุดท้ายจึงสามารถปราบกบฏอู่เกิง ก่วนซู่และไช่ซู่ลงได้ ประหารอู่เกิงและก่วนซู่ เนรเทศไช่ซู่ จากการปราบกบฏครั้งนี้ ทำให้ราชวงศ์โจวมีรากฐานที่มั่นคงยิ่งขึ้น

สืบเนื่องจากโจวอู่หวังเมื่อล้มล้างราชวงศ์ซังแล้ว ก็กลับไปนครหลวงเฮ่าจิง ( ย้ายมาจากเฟิงจิง)แล้วพบว่า ระยะทางระหว่างเมืองเฮ่าจิงกับศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่อยู่ห่างไกลกัน เกินไป ดังนั้นจึงคิดจะย้ายมาสร้างเมืองหลวงใหม่ในแถบลุ่มแม่น้ำอีและแม่น้ำลั่ว ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชนเผ่าเซี่ยมาแต่เดิม แต่ความคิดนี้ยังไม่ทันได้เป็นจริง ก็ล้มป่วยสิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน จากจารึกที่ขุดได้จากเมืองเป่าจีพบว่า โจวเฉิงหวัง เมื่อได้สืบทอดราชบัลลังก์แล้ว ก็ได้สานต่อแนวปณิธานของโจวอู่หวัง โดยกำหนดตั้งเมืองหลวงใหม่บริเวณลุ่มแม่น้ำอีและแม่น้ำลั่วซึ่งอยู่ใกล้ เมืองลั่วหยัง ในปัจจุบัน โดยใช้เมืองใหม่นี้เป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่ ซึ่งก็สามารถร่นระยะทางไปได้มากทีเดียว

เพราะเพื่อการนี้ เฉิงหวังได้เคยแต่งตั้งให้เส้ากงซื่อหรือเส้ากง ไป ‘ สำรวจ ‘ ละแวกเมืองลั่วหยัง ไม่นานนัก เมืองหลวงแห่งใหม่คือ ลั่วอี้ หรือนครหลวงตะวันออก ก็รวมเข้ากับเมืองเฮ่าจิง เมืองหลวงเดิมซึ่งโจวอู่หวังได้สร้างไว้ กลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม การปกครอง และการทหารของราชวงศ์โจวตะวันตก และเพื่อล้มล้างแนวคิดกอบกู้บ้านเมืองของประชาชนชาวซาง เฉิงหวังจึงอพยพชาวยินหรือซางเข้าสู่เมืองเฉิงโจวเมืองหลวงแห่งใหม่

เนื่องจากโจวกง ได้สำเร็จราชการเมื่อครั้งอยู่ที่นครเฮ่าจิงหรือนครหลวงตะวันตกมาโดยตลอด ดังนั้นบุตรชายคนโตของเขาชื่อป๋อฉิน จึงได้รับสืบทอดตำแหน่งเจ้าแคว้นหลู่ ต่อจากบิดา ในปัจจุบันได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีพบซากเมืองโบราณแห่งนี้ที่เมืองชวีฝู่ ของมณฑลซานตง

ส่วนเจียงซ่าง ที่ได้รับแต่งตั้งไปครองแคว้นฉี ปัจจุบันคือเมืองหลินจือในมณฑลซานตง และเส้ากง ที่ครองแคว้นเอี้ยน ปัจจุบันคือเขตฝางซานในปักกิ่ง ก็ได้มีการขุดพบซากเมืองและสุสานของเจ้าแคว้นเอี้ยนอีกด้วย

ภายหลังเหตุการณ์ปราบกบฏอู่เกิงสงบราบคาบลง โจวอู่หวังก็ได้พระราชทานดินแดนซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอู่เกิงให้กับ น้องชายชื่อคังซู่ โดยแต่งตั้งเป็นเจ้าแคว้นเว่ย ซึ่งปัจจุบันได้ขุดพบซากเมืองโบราณของแคว้นเว่ยในอำเภอซวิ่นมณฑลเหอหนาน นอกจากนี้ พระองค์ยังได้แต่งตั้งเวยจื่อ ซึ่งเป็นพี่ชายต่างมารดาของซังโจ้วกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซัง (ซาง) ที่ไม่ได้เข้าร่วมในการก่อกบฏอู่เกิงขึ้นเป็นเจ้าแคว้นซ่ง ปัจจุบันคือเมืองซางชิวในมณฑลเหอหนัน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแคว้นเว่ย

ต่อมา เมื่อโจวเฉิงหวัง ปราบแคว้นถัง ได้แล้ว ก็มอบดินแดนที่ยึดมาได้ให้กับถังซู่อวี๋ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องปกครอง แล้วตั้งเป็นแคว้นจิ้น ปัจจุบันมีการขุดพบร่องรอยทางโบราณคดีที่เขตต่อแดนระหว่างเมืองอี้และฉวี่เย ว่ในมณฑลซานซี

บรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นเหล่านี้ มักมีเรื่องขัดแย้งกันบ้าง มีสัมพันธ์ไมตรีต่อกันบ้าง บางครั้งยังคานอำนาจซึ่งกันและกันเอง สภาพการปกครองเช่นนี้ส่งผลให้ในช่วงต้นของราชวงศ์โจวมีความสงบและมั่นคงทาง การเมือง ดังคำกล่าวที่ว่า ‘ ยุคทองแห่งเฉิงหวัง 40 ปีไม่ต้องใช้โทษทัณฑ์ ‘ แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมในสมัยโจวเฉิงหวังภายหลังเหตุการณ์ปราบกบฏอู่เกิง แล้ว ราชวงศ์โจวได้มีความสันติสุขระยะหนึ่ง

ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ไพร่พลชาวโจวกลับต้องผ่านการศึกสงคราม เพื่อขยายดินแดนออกไปทางตอนใต้อันได้แก่ ปา ผู เติ้ง ฉู่ ทางตอนเหนือจรดดินแดนซู่เซิ่น เอี้ยน ป๋อ ทิศตะวันออกจรดชายฝั่งทะเล ทิศตะวันตกจรดกาน ชิง รวมเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่กว่าในสมัยราชวงศ์ซัง (ซาง) เสียอีก

ราชวงศ์โจวได้วางระบบการปกครองภายในที่ค่อนข้างจะประสบผลสมบูรณ์ มีการกำหนดบทลงโทษที่เป็นระบบกว่าในสมัยซาง มีการเตรียมกองกำลังทหารเป็นจำนวนมากกว่าสมัยซาง ถึงกับมีคำกล่าวว่า ‘ ภายใต้แผ่นฟ้านี้ ผืนดินและไพร่พลล้วนเป็นของโจวหวัง* ‘ ดังนั้น เมื่อโจวหวังพระราชทานที่ดินและไพร่พลให้แก่บรรดาเจ้าแคว้นนั้น ก็ต้องจัดพิธีรับที่ดินและไพร่พลนั้น เหล่าเจ้าครองแคว้นที่ได้รับการแต่งตั้ง ต้องมีกำหนดเวลาแน่นอนเพื่อเข้าเฝ้าโจวหวัง โดยมีภารกิจในการปกป้องราชสำนักโจว พวกเขายังจะต้องส่งบรรณาการให้กับโจวหวังด้วย (รวมทั้งการเกณฑ์ทหารไพร่พล) หากไม่ส่งบรรณาการก็จะถือว่าคิดการก่อกบฏต่อราชสำนัก ต้องได้รับโทษทัณฑ์ ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป บรรดาเจ้าครองแคว้นก็มักมีการตัดแบ่งหรือแลกเปลี่ยนดินแดนกันเอง จึงค่อย ๆเปลี่ยนที่ดินเป็นของตนเอง ขณะเดียวกันก็มีการบุกเบิกผืนที่ดินทำกินแหล่งใหม่มากขึ้น เมื่อมีที่นาเป็นของตัวเองมากขึ้น ย่อมก่อให้เกิดภาวะที่เป็นการบ่อนทำลายต่อระบบการทำนารวมเกิดขึ้น

พัฒนาการด้านต่างๆ ในสมัยโจวตะวันตกนี้สภาพเศรษฐกิจและสังคมมีความก้าวหน้ายิ่งกว่าราชวงศ์ซัง (ซาง) มีการใช้ทาสจำนวนมากในกระบวนการผลิต ก่อให้เกิดภาวะแรงงานเหลือใช้ในสังคม ซึ่งทำให้อาชีพงานช่างฝีมือต่าง ๆได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น การผลิตเครื่องมือสำริดก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก นอกเหนือจากโรงงานเครื่องมือสำริดที่ควบคุมโดยราชสำนักแล้ว เหล่าเจ้าครองแคว้นต่างก็มีโรงงานสำริดเป็นของตนเอง เครื่องมือสำริดยิ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น จนแทบจะครอบคลุมในทุกด้านของวิถีชีวิต อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นความเจริญในสาขาอาชีพอื่น ๆ อีกด้วย

การใช้ตัวอักษรก็ยิ่งแพร่หลายมากขึ้น นอกจากการจารอักษรลงบนกระดูกสัตว์แล้ว ในบรรดาแผ่นจารึกที่ทำจากทองแดงนับหมื่นชิ้นที่ขุดพบล้วนมีจารึกตัวอักษร ซึ่งบันทึกเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ชิ้นที่พบบันทึกอักษรมากที่สุดมีถึง 499 ตัวอักษร เทียบเท่ากับเอกสารชิ้นหนึ่งในเวลานั้นเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าในเชิงวิชาการและเทคโนโลยีทางด้านต่าง ๆ เช่น เกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ การทอผ้า การช่างทอง การก่อสร้าง ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์เป็นต้น ความสำเร็จเหล่านี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและการผลิตของคนใน สมัยนั้น นักโบราณคดีได้ขุดพบเครื่องมือเหล็กกล้าที่สร้างจากแรงงานมนุษย์ภายในสุสาน สมัยปลายราชวงศ์โจวตะวันตก ซึ่งแสดงว่า อย่างน้อยในสมัยนั้น ผู้คนเริ่มรู้จักเทคนิคในการตีเหล็กแล้ว การค้นพบครั้งนี้ บ่งชี้ว่าในขณะที่มนุษย์ปรับตัวอยู่ในท่ามกลางการต่อสู้ของโลกภายนอก ก็ได้ศึกษาและฝึกฝนทักษะวิธีการใหม่ ๆ ที่ให้ผลที่ดีกว่าเดิม

ปลายราชวงศ์โจวตะวันตก เมื่อมาถึงรัชกาลโจวลี่หวัง ภายในเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นตามลำดับ ลี่หวังที่ขูดรีดภาษีอย่างหนัก ข่มเหงราษฎร อีกทั้งปิดกั้นผู้คนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การปกครอง จนกระทั่งก่อนคริสต์ศักราช 841 เกิดการลุกฮือภายในขึ้น ลี่หวังหนีไปเมืองจื้อ (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอฮั่วในมณฑลซานซี) ประชาชนจึงพากันสนับสนุนให้โจวติ้งกง และเจามู่กง ซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ร่วมกันบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนที่มีการบันทึกเหตุการณ์โดยระบุ เวลาที่แน่นอน

ต่อมาเมื่อโจวเซวียนหวัง ได้สืบบัลลังก์ต่อมา เนื่องจากได้รับบทเรียนข้างต้น จึงปรับเปลี่ยนนโยบายการปกครองเสียใหม่ และเพื่อขจัดภัยคุกคามจากชนเผ่าหรงตี๋ ที่อยู่ทางตอนเหนือ จึงต้องทำศึกป้องกันอาณาเขตอีกครั้ง สุดท้ายได้รับชัยชนะกลับมา นอกจากนี้ยังประสบชัยในการสงครามกับแคว้นจิงฉู่ และหวยอี๋ ดังนั้น จึงได้รับการเรียกขานเป็นยุค ‘ ฟื้นฟู ‘ ทว่า สังคมโดยรวมยังคงตกอยู่ภายใต้มรสุมแห่งความขัดแย้งภายในต่อไป

วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในห้วงประวัติศาสตร์มักจะไม่เท่าเทียมกัน อาทิ ในสมัยซังและโจวดินแดนในเขตจงหยวน ได้เข้าสู่ความรุ่งเรืองของยุคสำริด ในขณะที่ดินแดนรอบนอกของโจว ยังคงล้าหลังอยู่มาก ดังนั้น ภายใต้แรงดึงดูดของผลประโยชน์และเงินทอง สงครามระหว่างชาวโจวและแว่นแคว้นอื่น ๆก็มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งโจวเจาหวัง ยกทัพบุกชนเผ่าหมาน ซึ่งอาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำฉางเจียง(แยงซีเกียง)และแม่น้ำฮั่นสุ่ย แต่ต้องรับศึกหนักจากการต่อต้านอย่างเข้มแข็งของชาวเผ่าหมาน กองทัพของโจวสูญเสียกำลังไพร่พลแทบหมดสิ้น เจาหวังเองก็สิ้นชีพที่แม่น้ำฮั่นสุ่ย การศึกครั้งนี้ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในยุคต้นราชวงศ์ โจวตะวันตกเลยทีเดียว

นับแต่นั้นมาราชวงศ์โจวตะวันตกก็ขาดความสามารถในการควบคุมแว่นแคว้นต่าง ๆทางตอนใต้ไปโดยสิ้นเชิง แม้ว่าภายหลังโจวมู่หวัง และโจวเซวียนหวัง ก็เคยยกทัพลงใต้ ทว่ายังคงไม่อาจพลิกผันสถานการณ์ใดๆได้มากนัก ชนเผ่าตงอี๋ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกก็เริ่มรุกล้ำเข้ามาในชายแดนโจว ทำให้โจวต้องมีการศึกรบติดพันมาโดยตลอด

ครั้งหนึ่ง แคว้นเอ้อ ไม่ยอมส่งบรรณาการให้กับโจว ทั้งยังยกไพร่พลรุกเข้ามาถึงรอบนอกเมืองลั่วอี้ นครหลวงตะวันออก ทำความตื่นตระหนกให้กับบรรดาขุนนางในราชสำนัก โจวเซวียนหวังจัดส่งกองทัพพิทักษ์นครหลวงทั้งสอง เข้าต่อกร แต่ก็ไม่อาจต้านทานไว้ได้ ภายหลังได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากบรรดาเจ้าแคว้นที่อยู่รอบข้าง จึงสามารถเอาชนะได้ในที่สุด

ยังมีพวกเฉวี่ยนหรง ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือก็เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดในยุคโจวตะวันตก ในรัชกาลโจวมู่หวัง พวกเฉวี่ยนหรงเริ่มแข็งแกร่งขึ้น กั้นขวางหนทางการติดต่อของราชวงศ์โจวกับแคว้นต่าง ๆในแถบตะวันตกเฉียงเหนือ ดังนั้น โจวมู่หวังจึงต้องยกกองทัพปราบเฉวี่ยนหรงจนได้ชัยชนะ จึงโยกย้ายชาวเฉวี่ยนหรงจำนวนหนึ่งมาสู่ดินแดนไท่หยวน เปิดเส้นทางติดต่อระหว่างโจวและแคว้นต่าง ๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ภายหลังพวกเฉวี่ยนหรงยังคงบุกรุกตามชายแดนโจวอีกหลายครั้ง ต่อมาในรัชสมัยโจวโยวหวัง ซึ่งเป็นบุตรของโจวเซวียนหวัง ลุ่มหลงในตัวนางสนมเปาซื่อ ถึงกับคิดสังหารรัชทายาทอี๋จิ้ว เพื่อแต่งตั้งบุตรชายของนางเปาซื่อนามป๋อฝู เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ เนื่องจากมารดาของอี๋จิ้วเป็นบุตรีของเจ้าแคว้นเซิน เป็นเหตุให้เจ้าแคว้นเซินร่วมมือกับพวกเฉวี่ยนหรงบุกโจมตีโจวตะวันตก สังหารโจวโยวหวัง ณ เชิงเขาหลี่ซาน อีกทั้งฉวยโอกาสปล้นสะดมทรัพย์สินมีค่าภายในเมืองไปจนหมดสิ้น ราชวงศ์โจวตะวันตกจึงถึงกาลล่มสลาย

ฝ่ายอี๋จิ้วที่ได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก้าวขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา ทรงพระนามว่าโจวผิงหวัง ต้องย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองลั่วอี้ (ลั่วหยาง) นครหลวงตะวันออก นับแต่นั้น ประวัติศาสตร์จีนก็เข้าสู่ยุคโจวตะวันออก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *