ศิลปะการเขียนอักษรจีน (2) อักษรจีนรูปแบบที่นิยมใช้เขียนในปัจจุบัน จากเรื่องของวิวัฒนาการอักษรจีน ปัจจุบันยังคงมีอักษรห้าแบบใหญ่ๆ ที่ยังคงนิยมใช้ในงานศิลปะต่างๆ ในปัจจุบัน คือ จ้วน ลี่ ไข่ สิง เฉ่า
อักษรจ้วน อักษรจ้วนที่เขียนในปัจจุบันเป็นอักษรจ้วนประดิษฐ์ ซึ่งเขียนต่างกับอักษรจ้วนโบราณที่แท้จริง แต่ว่าใช้วิธีการลากเส้นที่เหมือนกัน การปรับปรุงอักษรจ้วนนั้นก็เพื่อความสวยงามและให้เข้าใกล้กับรูปปัจจุบัน เพื่อจะอ่านง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ที่ศึกษาในเบื้องลึกก็สามารถใช้อักษรจ้วนโบราณแท้มาเขียน ซึ่งจะทำให้อ่านยากกว่าเพราะมีรูปร่างต่างกับอักษรปัจจุบันมาก
ลักษณะเฉพาะของอักษรจ้วน มีดังต่อไปนี้
• ส่วนสูงมากกว่าส่วนกว้าง ดูเป็นแนวตั้งขึ้น
• มีเส้นจำนวนมาก
• มีเส้นที่คดเคี้ยวไปมา
• มีเส้นที่เป็นส่วนโค้ง
• ลักษณะของเส้น หัวท้ายเท่ากัน น้ำหนักเสมอกันทั้งเส้น
• บริเวณจุดเริ่มและจุดจบของเส้นเป็นขอบมน
• มีลักษณะที่เหมือนกับภาพวาดแบบง่ายๆ เห็นได้ชัดกว่าอักษรแบบอื่น
วิธีการเขียนอักษรจ้วน บางท่านใช้ปลายไม้ไผ่ทุบแตกเป็นฝอย แต่โดยทั่วไปจะใช้พู่กันปลายมน ไม่นิยมพู่กันใหม่ที่มีปลายแหลม เพราะการลากเส้นแบบอักษรจ้วนไม่มีการให้น้ำหนักพู่กัน จึงไม่ต้องอาศัยทิศทางของปลายพู่กันแต่อย่างใด การเขียนอักษรจ้วนคำนึงถึงแต่เพียงแค่การวางโครงสร้างของตัวอักษรที่สวยงาม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะอักษรจ้วนมักจะมีความซับซ้อน จำขีดเส้นยาก
อักษรลี่ เป็นอักษรที่ได้รับความนิยมมากรูปแบบหนึ่งในการเขียน เพราะเป็นอักษรที่สวยงาม มั่นคง อ่านง่าย ชัดเจน เรียบร้อยสะอาดตา มีโครงสร้างที่แข็งแรง อักษรลี่ก็เช่นเดียวกับอักษรจ้วนคือปัจจุบันได้ปรับปรุงให้มีลักษณะใกล้ เคียงกับตัวอักษรทุกวันนี้ เหตุผลก็เพียงเพื่อให้อ่านง่าย เหลือเพียงแต่วิธีลากเส้นเท่านั้นที่เป็นแบบของอักษรลี่
ลักษณะเฉพาะของอักษรลี่ มีดังต่อไปนี้
• โครงสร้างเป็นสี่เหลี่ยมแบน กว้างมากกว่าสูง ข้อนี้สำคัญมาก อักษรลี่จะไม่สูงมากกว่าแนวนอนเป็นอันขาด (อย่างมากที่สุดก็อาจเป็นแค่สี่เหลี่ยมจัตุรัส)
• ลายเส้นมีการให้น้ำหนัก ไม่เสมอกันทั้งเส้น
• เส้นแนวนอนมีการตวัดปลายหางขึ้น
• การหักมุมเป็นไปอย่างตรงๆ มีการใช้มุมมาก เส้นโค้งน้อย
• แกนนอนขนานกับพื้นโลก แกนตั้งตั้งฉาก ไม่โอนเอียง
• ไม่มีการเชื่อมเส้น แต่ละเส้นเขียนแบ่งแยกอย่างชัดเจน
ถึงแม้ว่าอักษรลี่ปัจจุบันจะมีการปรับให้รูปร่างใกล้เคียงอักษรบรรจงธรรมดา แต่ยังคงมีวิธีเขียนส่วนประกอบบางตัวที่เป็นแบบของอักษรลี่โดยเฉพาะ ซึ่งยึดถือกันมาแต่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง อาทิเช่นวิธีการเขียนส่วนประกอบที่แปลว่า มือ วิธีการเขียนส่วนประกอบ เป็นแบบเฉพาะที่เรียกว่าแบบลี่
อักษรไข่ เป็นอักษรทางการปัจจุบัน ซึ่งผ่านการแก้ไขปรับปรุงมาหลายครั้งเพื่อให้เป็นมาตรฐาน อักษรไข่เกิดขึ้นหลังอักษรลี่แต่ก็ได้เข้ามาแทนที่อักษรลี่อย่างรวดเร็ว เพราะความสวยงามของมัน ปัจจุบันเป็นอักษรพื้นฐานที่ผู้หัดเขียนพู่กันควรฝึกหัดเป็นแบบแรก เพราะถือว่าสรีระของพู่กันจีนปัจจุบันนั้นทำมาเพื่อเอื้ออำนวยให้เขียนอักษร ไข่ได้อย่างสวยงามที่สุด
ลักษณะเฉพาะของอักษรไข่คือ
• รูปทรงของอักษรเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส
• มีการให้น้ำหนักแต่ละเส้นอย่างสวยงาม มีวิธีแน่นอนในการลากเส้น
• แกนนอนขวาสูงกว่าซ้าย (ฐานเสมอกัน) แกนตั้งตั้งฉากกับพื้นโลก
• มีทั้งเส้นตรงและเส้นโค้ง เส้นหนักหนักมาก เส้นเบาเบามาก ปลายเส้นแหลมบ้างมนบ้าง
• เส้นนอนหัวและท้ายหนัก ตรงกลางเบา ทิศทางสูงขึ้นไปทางขวา
• ไม่มีการเชื่อมเส้นใดๆ ทั้งสิ้น
อักษรไข่มีรูปแบบต่างๆ อีกมาก ที่นิยมมากที่สุดคืออักษรบรรจงหนึ่งในสี่ตระกูล หรืออักษรบรรจงสี่ตระกูล หมายถึงอักษรบรรจงของตระกูล โอวหยัง เอี๋ยน หลิ่ว และจ้าว ซึ่งเป็นอักษรที่คนปัจจุบันมักใช้เป็นแบบในการฝึกเขียนอักษร คือเลือกเดินเหลี่ยมในแบบใดแบบหนึ่งในสี่ตระกูลนี้
1. อักษรบรรจงแบบโอวหยัง
ผู้ให้กำเนิดคือ โอวหยังสวิน แห่งราชวงศ์ถัง เป็นนักอักษรศาสตร์ชื่อดังในสมัยนั้น มีผลงานต่างๆ มากมาย แต่ที่สำคัญและรู้จักแพร่หลายคือ จิ่วเฉิงกงเปย์ ผมเองก็เคยคัดศิลาจารึกหลักนี้จนจบ
2. อักษรบรรจงแบบเอี๋ยน
ผู้ให้กำเนิดคือ เอี๋ยนเจินชิ่ง ราชวงศ์ถังเช่นกัน อักษรของเอี๋ยนเจินชิ่งนั้นมีความโดดเด่นมากหลายทั้งในลักษณะการลากเส้นจน ถึงการวางโครงร่างอักษร เป็นหนึ่งในคนที่ลายมือสวยหาตัวจับยากโดยเฉพาะตัวบรรจง
3. อักษรบรรจงแบบหลิ่ว
ผู้ให้กำเนิดคือ หลิ่วกุงเฉวียน ปลายราชวงศ์ถัง อักษรของหลิ่วกุงเฉวียนได้รับความนิยมมากถึงกับยกย่องให้คู่กับแบบของเอี๋ยน เจินชิ่ง ปัจจุบันก็มีคนนิยมอักษรแบบนี้เยอะด้วยรูปแบบที่ดูค่อนข้างเฟี้ยวฟ้าวของมัน
4. อักษรบรรจงแบบจ้าว
ผู้ให้กำเนิดคือ จ้าวเมิ่งฝู่ อักษรชนิดนี้ไม่ใช่อักษรบรรจงแท้ แต่เป็นอักษรบรรจงกึ่งหวัด ซึ่งมีลีลาของเส้นที่อ่อนช้อยกว่าอักษรบรรจงแท้ซึ่งจะแข็งกว่า พวกรับเขียนอักษรจีนตามเยาวราช-เจริญกรุง นิยมฝึกอักษรแบบนี้ เพราะดูสวยงามและก็ไม่ทำให้อ่านยากแต่ประการใด
การเปรียบเทียบอักษรบรรจงทั้งสี่ตระกูล
คนที่มีความชำนาญในการสังเกตอักษรจนถึงระดับหนึ่งแล้วเมื่อเห็นอักษรบรรจง ที่ใครเขียนขึ้นมาก็จะบอกได้ทันทีว่างานชิ้นนั้นเดินเหลี่ยมไหน เป็นแบบโอวหยัง เอี๋ยน หลิ่ว หรือจ้าว ซึ่งบางทีคนที่แรกศึกษาตัวอักษรอาจพบว่าสังเกตยาก แต่ถ้าผ่านไปเริ่มพบเห็นตัวอักษรมากขึ้นก็จะบอกได้เลย
โปรดดูภาพด้านล่างนี้
อักษรเหล่านี้ แถวบนสุดคือแบบโอวหยัง แถวสองคือเอี๋ยน แถวสามคือหลิ่ว แถวสี่คือจ้าว
1. ลักษณะของอักษรตระกูลโอวหยัง มีลักษณะสำคัญคือ เส้นตรงจะตรงมาก มีความหนักเบาของตัวอักษรที่แตกต่างกันน้อย มีลักษณะของการตวัดน้อยมาก ส่วนใหญ่จะใช้พลังอย่างคงเส้นคงวา จุดเด่นที่สังเกตง่ายคือวิธีเขียนน้ำสามจุด จุดที่สองจะมีทิศทางลากลงไปหาจุดที่สาม มิใช่แนวราบเหมือนอักษรแบบอื่น และวิธีเขียนปลายเส้น ( เส้นตั้งโค้งตะขอ เช่นที่ปรากฏในหางของเลข ( 9) ที่แตกต่างจากแบบอื่นคือจะไม่มีลักษณะของการหักตะขอ แต่จะไล่ปลายออกไปอย่างเรียบร้อย ผลคือจะเป็นเส้นโค้งแหลม นอกจากนี้สัดส่วนของอักษรมักมีความสูงมากกว่ากว้าง อักษรของโอวหยังสวินเคยเป็นที่นิยมมากอยู่พักหนึ่ง เพราะว่าดูเรียบร้อยอ่านสบายตาที่สุด แต่ปัจจุบันเสื่อมความนิยมไปเพราะคนสมัยนี้มักจะมองว่า “น่าเบื่อ” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะมีความเสมอกันเกือบทั้งตัว เหมาะสำหรับคนทึ่ชอบอะไรเป็นระเบียบเรียบร้อย
2. ลักษณะของอักษรตระกูลเอี๋ยน มีความสำคัญคือการให้น้ำหนักเส้นที่สวยงามและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นเหิงคือเส้นราบ เขียนได้สวยงามมาก ทางด้านหัวจะแหลม และด้านปลายจะมีน้ำหนักมากและหักลงอย่างสวยงาม ตรงกลางก็จะแสดงถึงการถ่ายน้ำหนักจากซ้ายมาขวา น้ำหนักจะมีหนักเบาไม่เสมอกันอย่างของตระกูลโอวหยัง ส่วนที่เป็นปลายแหลมจะแหลมมาก ในระหว่างแต่ละเส้นมีลักษณะแสดงการเคลื่อนไหวมากขึ้น จุดเด่นที่สังเกตง่ายคือวิธีเขียนอักษร ( หมิง) อันเป็นเอกลักษณ์ โดยเขียนส่วนหน้าที่แปลว่าพระอาทิตย์อย่างอักษรจ้วน อักษรตระกูลเอี๋ยนในปัจจุบันยังมีผู้นิยม ผมเองก็ชอบอักษรตระกูลนี้ที่สุดหลังจากพยายามตัดสินใจอยู่นาน ตัวอักษรแบบเอี๋ยนนี้เหมาะกับผู้ที่ชอบทั้งความเรียบร้อยและความมีพลัง
3. ลักษณะของอักษรตระกูลหลิ่ว คือเส้นที่บางและขอบอักษรที่คมกริบ เส้นราบมีปลายตัดทั้งสองข้าง มักจะไม่มีการให้น้ำหนักด้านหัวและท้าย ทำให้ขอบไม่มน เส้นลากขวาแข็งและคมดังปลายดาบ มีการให้น้ำหนักแตกต่างกันมากในตัวอักษร โดยเฉพาะบางเส้นจะน้ำหนักมากเป็นพิเศษ เช่นเส้นลากขวา หรือเส้นลากขวาราบ นอกจากนี้อักษรแบบนี้ยังมีวิธีวางโครงสร้าง อักษรที่น่าสนใจ บางจุดเช่นเส้นระหว่างเส้นที่ควรเชื่อมกันก็ขาดและไม่บรรจบกันเสียอย่างนั้น เอง และอาจมีการยื่นล้ำออกมาจากจุดบรรจบด้วย (สังเกตอักษรตัวที่สองและที่สาม) มีจุดเด่นที่สังเกตง่ายอีกคือวิธีการทำตะขอต่างๆ ที่จะวนปลายพู่กันเป็นจุดใหญ่ก่อนแล้วเบี่ยงพู่กันออกมาเล็กน้อย ผลคือได้ตัวตะขอและส่วนปลายตะขอที่มีน้ำหนักต่างกันมากดังในภาพ อักษรตระกูลนี้ได้รับความนิยมในหมู่คนจีนปัจจุบันมากที่สุด ด้วยลักษณะอันเฉียบขาดของมัน และการที่เส้นคมบางทำให้อ่านง่าย ผู้เขียนอักษรแบบนี้ต้องหวือหวาพอสมควร
4. ลักษณะของอักษรตระกูลจ้าว เป็นเรื่องของการให้น้ำหนักมือที่อ่อนช้อยสวยงาม ทุกเส้นจะมีความมนไม่แข็งกระด้าง มีลักษณะคล้ายคลึงกับอักษรบรรจงของหวางซีจือในสมัยราชวงศ์จิ้น แต่จ้าวเมิ่งฝู่แกคงไม่ชอบทำอะไรเป็นแบบแผนมากนัก บางตัวจึงออกมาหวัดมากอยู่สักหน่อย ถือเป็นแบบแผนการเขียนอักษรบรรจงที่ยืดหยุ่นมากกว่าแบบอื่นๆ และแสดงพลังการลื่นไหลของพู่กันมากกว่าแบบอื่น เป็นแบบที่ได้รับความนิยมในหมู่คนจีนโพ้นทะเลในบ้านเรา เพราะสามารถเขียนให้คนที่ไม่รู้ภาษาจีนรู้สึกว่าสวยได้ อักษรแบบนี้เรียกได้ว่าตรงข้ามกับแบบหลิ่วกุงเฉวียนเลยก็ได้ เพราะความอ่อนช้อยของมันทำให้ดูต่างไปจากความแข็งกระด้างของอักษรหลิ่ว ผู้เขียนอักษรแบบนี้มักเป็นพวกชอบความสวยงาม
ความจริงแล้วลายมืออักษรบรรจงไม่ได้มีเพียงสี่ตระกูลนี้เท่านั้น เพียงแต่สี่ตระกูลนี้สามารถอธิบายอักษรบรรจงรวมๆ ได้เกือบหมด อาจมีบางท่านที่มีลายมือโดดเด่นเป็นพิเศษ เช่นพระเจ้าซ่งฮุยจงแห่งราชวงศ์ซ่ง ซึ่งผมจะเอามาฝากในโอกาสหน้า