สามก๊กในแผ่นดินสยาม

ตำนานสามก๊กในประเทศไทยนั้นสันนิษฐานว่ากะลาสีชาวจีนนำเข้ามาเผยแพร่ในสมัย กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่มีหลักฐานปรากฎว่าว่าเมื่อรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มี พระราชดำรัสให้แปลหนังสือพงศาวดารจีน 2 เรื่อง คือ เรื่องไซฮั่น 1 เรื่องสามก๊ก 1 โปรดให้ สมเด็จฯ กรมพระราชวังหลัง อำนวยการแปลเรื่องไซฮั่น และให้เจ้าพระยาพระคลัง(หน) อำนวยการแปลเรื่องสามก๊ก เป็นหนังสือ 95 เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์พิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2408 เป็นจำนวน 4 เล่มสมุดไทย

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ลักษณะการแปลหนังสือจีนเป็นภาษาไทยแต่โบราณค่อนข้างลำบาก ด้วยผู้รู้ภาษาจีนไม่ชำนาญเรื่อง ภาษาไทย ผู้ชำนาญด้านภาษาไทยก็ไม่มีใครรู้ภาษาจีน การแปลทั้งสองฝ่ายต้องแปลร่วมกัน ฝ่ายผู้ชำนาญจีน แปลความออกให้เสมียนจดลงแล้วผู้ชำนาญภาษาไทยเอาความนั้นเรียบเรียงเป็นภาษา ไทย ให้ถ้อยคำแล สำนวนความเรียบร้อยอีกชั้นหนึ่ง จึงทำให้เรื่องสามก๊ก มีสำนวนเรียบร้อยสม่ำเสมออ่านเข้าใจง่าย มากกว่า เล่มอื่น แต่ตั้งแต่เล่มที่ 55 เป็นเรื่องสำนวนหนึ่งไม่เหมือนเดิม ซึ่งทำให้สามก๊กแบ่งเป็น 2 สำนวน ซึ่งบางที อ่านแล้วขัดแย้งกัน น่าสันนิษฐานว่าเจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลอยู่ไม่ทันตลอดเรื่อง ถึง อสัญกรรมก่อน มีผู้อื่นอำนวยการแปลต่อมา สำนวนจึงผิดกันไป

การแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยผิดกับแปลภาษาอื่น ๆ ด้วยจีนต่างเหล่าอ่านหนังสือจีนสำเนียงผิดกัน จะยกตัวอย่างดังนี้

ราชอาณาเขตของพระเจ้าโจผีจีนกลางเรียก ไวโกวะ จีนฮกเกี้ยนเรียก วุยก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียก งุ่ยก๊ก จีนกวางตุ้งเรียก ง่ายโกะ จีนไหหลำเรียก หงุ่ยก๊ก

เล่าปี่ จีนกลางเรียก ลิ่วปี๋ จีนฮกเกี๋ยนเรียก เล่าปี่ จีนกวางตุ้งเรียก เหล่าปี๋ จีนไหหลำเรียก ลิ่วปี

ขงเบ้ง จีนกลางเรียก ข้งหมิ่ง จีนฮกเกี้ยนเรียก ขงเบ้ง จีนแต้จิ๋วเรียก ขงเหมง จีนกวางตุ้งเรียก หงเม่ง จีนไหหลำเรียก ขงเหม่ง

หนังสือเรื่องจีนที่แปลเป็นไทย บางเรื่องเรียกชื่อตามสำเนียงฮกเกี้ยน บางเรื่องเรียกตามสำเนียง แต้จิ๋ว เพราะจีนในประเทศไทยมีจีนเหล่าฮกเกี้ยนและเหล่าแต้จิ๋วมากกว่าเหล่าอื่น ผู้แปลเป็นจีนเหล่าไหน อ่านหนังสือเป็นสำเนียงใด ไทยเราก็จดไปอย่างนั้น เมื่อเทียบกับสามก๊กที่แปลเป็นภาษาอื่น ชื่อที่เรียก จึงเพี้ยนไป

มีผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า “เรื่องสามก๊กนั้นดีจริง แต่ผู้แต่งเป็นพวกของเล่าปี่ ตั้งใจ แต่จะยกเล่าปี่เป็นสำคัญ ถ้าหากพวกโจโฉเป็นผู้แต่ง ก็อาจจะดำเนินเรื่องในสามก๊กกลับกันก็เป็นได้ ว่าโจโฉ เป็นผู้ทำนุบำรงแผ่นดิน ฝ่ายเล่าปี่เป็นผู้คิดร้าย เพราะมีข้อที่จะอ้างเข้ากับโจโฉได้หลายข้อ เช่น โจโฉสามารถ ปกครองบ้านเมืองแลปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องให้กลับอยู่ในบังคับ บัญชาของรัฐบาลกลาง ข้อที่ กล่าวหาว่าเป็นโจรชิงราชสมบัติก็อาจจะคัดค้านได้ว่าถ้าโจโฉเป็นศัตรูจริง จะกำจัดพระเจ้าเหี้ยนเต้เมื่อใด ก็ได้ ไหนเลยจะยอมเป็นข้าฯจนตลอดอายุ แต่เรื่องเล่าปี่ที่ปรากฎในสามก๊กดูเป็นแต่เที่ยวปล้นชิงบ้านเมือง เพื่อเป็นผลประโยชน์แก่ตัวเอง ไม่เห็นว่าได้ตั้งใจขวนขวายช่วยพระเจ้าเหี้ยนแต้แต่อย่างใด ดูเหมือนจะต้องรับว่าข้อที่ผู้แต่งหนังสืออาจจะจูงใจผู้อื่นให้นิยมได้ตาม ประสงค์ยกเรื่องสามก๊กเป็น อุทาหรณ์ แม้ไทยเรามิได้เป็นพวกข้างไหน ใครอ่านเรื่องสามก๊กหรือเพียงได้ดูงิ้วเล่นเรื่องสามก๊ก ก็ดูเหมือนจะเข้ากับเล่าปี่ด้วยทั้งนั้น”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *