กลยุทธ์สยบมหาอำนาจ (19) : กลยุทธ์สามก๊กสกัดทัพชิงเมือง ตำราพิชัยสงครามซุนวูว่าไว้ว่า “การชิงชัยมีประโยชน์ การชิงชัยมีภัย ยกทัพทั้งกองไปชิงประโยชน์ จักไม่ทันกาล ทิ้งยุทโธปกรณ์ไปชิงประโยชน์ จักสูญเสียสัมภาระ” หมายถึงว่าการจะทำอะไร ไม่ควรทุ่มกำลังทั้งหมดที่มี หากยังไม่ได้เตรียมการป้องกันเอาไว้ เพราะจะทำให้แนวหลังเสียหายได้
ในวันนี้ผมจะยกตัวอย่างคนที่จะทำการรบแล้ว เทหมดหน้าตักแล้วก็สิ้นเนื้อประดาตัวเช่นกัน โดยในสมัยสามก๊ก เมื่อโจโฉปราบปรามหัวเมืองภาคเหนือหมดสิ้นแล้ว จึงได้สั่งให้เตรียมกองทัพเพื่อเคลื่อนทัพลงใต้โดยส่งให้โจหยินไปเป็นเจ้า เมืองอ้วนเซียไปรวบรวมทหารและประชาชนเอาไว้
โจหยินประเมินว่า เล่าปี่แห่งซินเอี๋ยกำลังบำรุงทหารและเสบียง เกรงว่าจะเป็นภัยในภายหน้า จึงให้นายทหารรอง “ลิกอง” และ “ลิเซียง” ยกกองทัพตีซินเอี๋ย แต่กลับเสียทีอุบายของตันฮกถูกสังหารทั้งสองคน โจหยินโกรธเป็นอันมาก ยกกองทัพใหญ่เข้าตีซินเอี๋ย โดยทิ้งเมืองห้วนเสียให้ร้างไว้ ลิเตียนที่ปรึกษาเห็นดังนี้จึงคัดค้านโจหยิน แต่โจหยินก็มิฟัง พาทหารเข้าตีเมืองซินเอี๋ย
ตันฮกใช้อุบายออกรบเพื่อถ่วงความสนใจของโจหยินไว้ และส่งกวนอูลอบโจมตีเมืองอ้วนเซียที่ว่างเปล่าอยู่ เมื่อกองทัพโจหยินเสียที โดนอุบายของตันฮกทำให้ต้องเสียทั้งกำลังทหารไปเป็นจำนวนมาก โจหยินมีคำสั่งให้ทหารทุกคนรีบถอนทัพกลับไปเมืองอ้วนเซีย โดยเมื่อกลับไปถึงเมือง ปรากฏว่าเห็นกวนอูเข้ายึดเมืองไว้ได้แล้ว โจหยินเสียใจมาก จึงได้พาลิเตียนและทหารที่เหลือรอดหนีกลับไปหาโจโฉ ณ เมืองฮูโต๋ อย่างน่าอับอายที่สุด
ในอดีตซุนวูลงความเห็นว่า การชิงชัยมีสองด้าน คือทั้งที่เป็นประโยชน์และที่เป็นภัย เขาชี้ว่า “การชิงชัยมีประโยชน์ การชิงชัยมีภัย” เน้นว่าในกระบวนการสัประยุทธ์นั้น จะต้องจัดการกับปัญหา “ยกกองทัพไปชิงประโยชน์” และ “ทิ้งยุทโธปกรณ์ไปชิงประโยชน์” ให้ดี จะต้องปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ควรจะคิดแต่ให้เบาตัวโดยทิ้งยุทธสัมภาระไปเสีย คือคิดแต่่รีบรุดไปโดยทำให้ไพร่พลต้องสิ้นสมรรถนะ เขาเตือนว่า กองทัพหากปราศจากยุทธสัมภาระก็ไม่อาจจะอยู่ได้ การรุกอย่างสุ่มเสี่ยงเบาปัญญา แม่ทัพของสามทัพก็อาจจะเป็นอันตรายตกเป็นเชลยของข้าศึกได้