ราชวงศ์ฉิน (221-207) ในสมัยจ้านกั๋ว (จั่นกว๋อ) แคว้นฉินใช้หลักนโยบายตีสนิทแคว้นไกล โจมตีแคว้นใกล้ เจ้าแค้วนฉินได้คัดเลือกโอรสองค์หนึ่ง จากทั้งหมดกว่า 20 องค์ นามว่า จื่อฉู่ ไปเป็นตัวประกันที่แคว้นจ้าว เพราะพระโอรสองค์นี้เป็นพระโอรสที่ไม่มีความสำคัญต่อแคว้นฉินเลย แต่คหบดีใหญ่นาม หลี่ปู้เหว่ย กลับคิดว่าจื่อฉู่ผู้นี้เป็นคนที่หาได้ยาก จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะตีสนิทกับจื่อฉู่ และได้ทำการตกลงกับจื่อฉู่ว่า หากตนสามารถช่วยเหลือให้จื่อฉู่ขึ้นเป็นเจ้าแคว้นฉินได้ จื่อฉู่และหลี่ปู้เหว่ยจะปกครองแคว้นฉินด้วยกัน นอกจากนี้หลี่ปู้เหว่ยยังได้นำหญิงงามนางหนึ่งนามว่า เจ้าจี ซึ่งหลี่ปู้เหว่ยโปรดปรานมากให้แก่จื่อฉุ่ (ล่ากันว่าในตอนนั้นเจ้าจีกำลังตั้งครรภ์บุตรของหลี่ปู้เหว่ยอยู่ ซึ่งเด็กคนนี้ในอนาคตก็คือจักรพรรดิจิ๋นซี แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องเล่าในหมู่ชน ไม่มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบ หรือยืนยันได้ แต่ก็อาจจะบอกได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงก็ได้) หลังจากที่จัดการเรื่องของจื่อฉู่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลี่ปู้เหว่ยได้ดินทางมายังแคว้นฉินเพื่อเข้าพบฮว๋าหยางฝูเหริน ซึ่งเป็นสนมคนโปรดของเจ้าแคว้นฉิน หลี่ปู้เหว่ยได้ทูลพระนางว่า ถึงแม้ว่าในตอนนี้พระนางจะเป็นที่โปรดปรานของเจ้าแคว้นฉินในตอนนี้ แต่เนื่องจากพระนางไม่มีพระโอรส หากวันหนึ่งเจ้าแคว้นฉินสวรรคตไปพระนางจะทำเช่นไรต่อไป คำพูดเหล่านี้ทำให้ฮว๋าหยางฝูเหรินเกิดความกังวลใจขึ้นมา หลี่ปู้เหว่ยจึงทูลต่อไปว่า ปัจจุบันนี้พระโอรสจื่อฉู่ ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่ที่แคว้นจ้าว เป็นพระโอรสที่มีความสามารถยิ่ง ทุกวันพระโอรสทรงคิดถึงและเป็นห่วงพระนางอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากพระนางช่วยสนับสนุนให้จื่อฉู่ได้เป็นรัชทายาท ก็จะทำให้จื่อฉู่สามารถกลับมาดูแลพระนางได้ในเร็ววัน
ด้วยการช่วยเหลือของหลี่ปู้เหว่ยและการสนับสนุนจากฮว๋าหยางฝูเหรินนี้ จึงทำให้จื่อฉู่ได้ขึ้นเป็นรัชทายาท และได้ขึ้นเป็นเจ้าแคว้นฉินในเวลาต่อมา จื่อฉู่สวรรคตเมื่อพระโอรสอิ๋งเจิ้งมีอายุ 13 ชันษา เกิดการชิงบัลลังก์กันระหว่างอิ๋งเจิ้งและเฉิงเจียว ซึ่งเป็นโอรสต่างมารดาของจื่อฉู่ สุดท้ายอิ๋งเจิ้งได้ขึ้นเป็นเจ้าแคว้นฉิน และมีราชโองการแต่งตั้งให้หลี่ปู้เหว่ยเป็นผู้สำเร็จราชการแทน และเมื่อพระองค์มีพระชนม์มายุได้ 39 พรรษา พระองค์ก็สามารถปราบปรามหกแคว้น รวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งได้สำเร็จ และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฉินสือหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) ซึ่งมีความหมายว่าจักรพรรดิองค์แรกแห่งราชวงศ์ฉิน
ฉินสื่อหวงตี้สวรรคตในปีก่อนค.ศ.210 ซึ่งเป็นปีที่ 37 ของการครองราชย์เหนือแคว้นฉิน ระหว่างเดินทางกลับจากการตรวจราชการจากดินแดนทางใต้ อัครเสนาบดีหลี่สือ (หลี่ซือ) และจ้าว กาวขันทีผู้ทรงอิทธิพล ก็ได้วางแผนปลงพระชนม์องค์รัชทายาทฝูซู และประกาศตั้งหูฮ่าย พระอนุชาของฝูซู เป็นองค์รัชทายาท ซึ่งทรงก้าวสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิองค์ที่สอง
หูฮ่ายเป็นหุ่นเชิดของจ้าว กาว และทรงใช้อำนาจเหล็กอันเหี้ยมเกรียมเสียยิ่งกว่าจักรพรรดิพระองค์แรก กระทั่งปี 209 ก่อนค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 2 ในการครองราชย์ของจักรพรรดิองค์ที่สอง การลุกฮือใหญ่ของชาวนาซึ่งมีเฉิน เซิ้ง และอู๋ กว่าง เป็นผู้นำ ก็ได้ระเบิดขึ้น จากนั้น คลื่นมหาชนทั่วดินแดนได้ผลึกกำลังกันลุยศึกโค่นล้มอำนาจฉินได้แก่ ประชาชนตามท้องถิ่นชนบท กองกำลังที่ยังเหลือรอดของเหล่าผู้ปกครองอดีตรัฐใหญ่ทั้งหก กลุ่มข้าราชการระดับล่างในแคว้นฉิน ตลอดจนกลุ่มทหารติดอาวุธในบางพื้นที่ และกองกำลังแห่งฉินก็พ่ายยับอย่างสาหัสสากรรจ์
เซี่ยงหวี่ทายาทขุนนางในอดีตรัฐใหญ่ทั้งหก และหลิว ปังข้าราชการระดับล่างในแคว้นฉินผู้มีแนวคิดแบบรากหญ้า ต่างนำทัพของตนลุยฝ่าด่านเข้าโจมตีฉิน ขณะเดียวกัน จ้าวกาวได้ปลิดชีพทั้งหลี่ซือ และฝูซูจักรพรรดิองค์ที่สอง จากนั้น ก็เชิดจื่ออิงพระนัดดาของจักรพรรดิองค์แรกสู่บัลลังก์ ในปี 207 ก่อนค.ศ. กองกำลังเซี่ยงหวี่โจมตีทัพฉินแตกกระจุย นอกจากนี้ ทัพฉินยังพ่ายยับอย่างหนักในสนามรบจู้ลู่ ปีเดียวกัน จื่ออิงก็สังหารจ้าวกาว ปีถัดมา หลิว ปังก็บุกทะลวงไปถึงชานเมืองป้าส้างประชิดเซียนหยาง ในที่สุด จื่ออิงก็เสด็จออกจากเมืองหลวงและยอมยกธงขาว ปิดม่านราชวงศ์ฉินอันยิ่งใหญ่ จากนั้น เซี่ยงหวี่ซึ่งตั้งตัวเป็น ‘ กษัตริย์แห่งฉู่ ‘ และหลิว ปังเป็น ‘ กษัตริย์แห่งฮั่น ‘ ในปี 202 ก่อนค.ศ. เซี่ยงหวี่อัตวินิบาตกรรมหนีความอัปยศพ่ายแพ้ และหลิวปังก็ทะยานสู่บัลลังก์จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่น
แม้ราชวงศ์จะครองแผ่นดินเพียงชั่วเวลาอันแสนสั้นเพียง 15 ปี แต่อิทธิพลของฉินผู้รวบรวมจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ยืนยงเหนือประวัติศาสตร์มาตลอดนับพันปี ดินแดนฉินคือประเทศจีนปัจจุบัน ยกเว้นพรมแดนด้านตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ระบบการรวบอำนาจสู่ส่วนกลางอย่างสิ้นเชิงของฉิน เป็นแบบอย่างของราชวงศ์ต่อๆมา กำแพงเมืองจีนยังยืนผงาดมาถึงวันนี้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีอำนาจเผด็จการของยุคราชวงศ์ไหน ดุเดือดเทียมทานฉินได้ ด้วยเหตุผลนี้เอง ที่ทำให้ราชวงศ์ฉินดับวูบในชั่วเวลาอันแสนสั้น
บุญคุณและโทษของจักรพรรดิจิ๋นซี หลังจากที่ฉินอ๋องเจิ้ง (พระเจ้าอิ๋งเจิ้ง) สามารถรวบรวมแผ่นดินเป็นปรึกแผ่น พระองค์ได้ยกเลิกระบบการแต่งตั้งเจ้าเมืองปกครองท้องถิ่น และได้เปลี่ยนการปกครองประเทศเป็นแบบจังหวัดและอำเภอ ซึ่งมีลักษณะเป็นการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงได้โปรดให้มีการร่างกฎหมายให้เป็นเอกภาพ ในด้านเศรษฐกิจ พระองค์ทรงดำเนินนโยบายทางด้านการเกษตร มีราชการให้ทั่วประเทศใช้เครื่องชั่ง ตวง วัด และเงินตรา ให้เป็นมาตรฐาน ทรงโปรดให้มีการสร้างถนนที่เชื่อมโยงไปทั่วประเทศ ด้านวัฒนธรรม พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้มีการใช้ตัวอักษรแบบเดียวกันทั้งประเทศ ด้านความมั่นคงได้โปรดให้สร้างกำแพงหมื่นลี้ (กำแพงเมืองจีน) เพื่อใช้ป้องกันการรุกรานจากชนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือ ทั้งหมดนี้จึงเป็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ที่ จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงสร้างไว้ให้กับแผ่นดินจีน
แต่ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายที่ผิดพลาดในการบริหารประเทศด้วยเช่นกัน ฉินสือหวงตี้ทรงมีพระประสงค์ว่าจะต้องมีพระชนม์ชีพที่ยืนยาว ดังนั้นจึงถูกพวกฟางซื่อ (ผู้ที่อ้างตนว่าเป็นนักพรตของลัทธิเต๋า) หลอกลวงครั้งแล้วครั้งเล่า ในบรรดานักต้มตุ๋นนี้ มีผู้ที่ฝีมือร้ายกาจอยู่คนหนึ่งนามว่า ฉวีฝู ซึ่งทูลกับฉินสือหวงตี้ว่า “ ในทะเลตะวันตกมีภูเขาเซียน บนภูเขาแห่งนั้นมียาอายุวัฒนะ หากพระองค์ทรงประทานอนุญาตให้ข้าพระองค์นำเด็กชายหญิงพรมจารี 500 คู่ เพื่อไปขอยาอายุวัฒนะ พระองค์ก็จะได้อายุวัฒนะดังประสงค์ ” สุดท้ายจิ๋นซีฮ่องเต้ทรงหลงเชื่อฉวีฝู ทรงประทานทรัพย์สินเงินทองให้เป็นอันมาก พร้อมกับเด็กเด็กชายหญิงพรมจารี 500 คู่ และเรือลำใหญ่อีก 1 ลำ ฉวีฝูหลังจากออกเดินทางมาแล้วก็มิได้หวนกลับมาอีกเลย เล่ากันว่า ฉวีฝูได้พบกับเกาะญี่ปุ่น จึงได้ตั้งรากฐานอยู่ที่นั้น
นอกจากนี้จักรพรรดิจิ๋นซีได้ใช้กำลังทรัพย์และกำลังคนอย่างมหาศาลเพื่อสร้าง พระราชวังและสุสานของพระองค์เอง กองทัพหุ่นดินเผาอันยิ่งใหญ่ที่ค้นพบในปัจจุบันนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่ง ของสุสานจักรพรรดิจิ๋นซีเท่านั้น กล่าวขาลกันว่าในช่วงปลายของราชวงศ์ฉิน พระราชวังของจิ๋นซีฮ่องเต้ถูกเผาทำลาย ไฟนั้นไหม้ตัวพระราชวังอยู่นานกว่า 3 เดือนยังไม่ดับมอด พระองค์ได้ใช้กำลังคนกว่า 1 ล้านคนในการก่อสร้างกำแพงเมืองจีน ซึ่งมีกว่าครึ่งที่เสียชีวิตไปเพราะอาการเหน็ดเหนื่อยระหว่างการก่อสร้าง
กฏหมายสมัยราชวงศ์ฉิน กฎหมายในสมัยราชวงศ์ฉินนี้มีความโหดร้ายมาก ผู้หนึ่งกระทำผิดต้องโทษ 9 ชั่วโคตร ดังนั้นประชาชนจึงมีการต่อต้านการปกครองของราชวงศ์ฉินอยู่ไม่ขาดสาย
เพื่อรวบรวมความคิดให้เป็นเอกภาพ จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงโปรดให้มีราชโองการให้เผาตำราต่างๆ ทิ้ง ยกเว้นเสียแต่ตำราเรื่องของการทำการเกษตรและการแพทย์เท่านั้น ในประวัติศาสตร์เรียกเหตุการณ์นี้ว่า เฝินซู (เผ่าหนังสือ) นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้ประหารบัณฑิตของสำนักหลูที่ชอบวิจารณ์การเมือง รวมไปถึงพวกฟางซื่อ กว่า 400 คน ด้วยวิธีการฝังทั้งเป็น มีการเรียกเหตุการณ์นี้ว่า เคิงหลู (ฝังบัณฑิต) จากเหตุการณ์เฝิงซู เคิงหลู ครั้งนี้ ได้ทำลายการพัฒนาวัฒนธรรมของจีนไปอย่างมาก