เปาบุ้นจิ้น ตอน นายบ้านผู้โชคร้าย เมื่อครั้งที่เปาบุ้นจิ้นรับราชการอยู่ที่เมืองตังเกี๋ย ถึงวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสามเป็นฤดูตรุษจีน เปาบุ้นจิ้นจัดเครื่องสังเวยไปบวงสรวงเทพารักษ์ ที่ศาลเจ้าหลักเมืองแล้ว ขากลับขี่ม้ามาถึงปากคลองกั๊งเค้าตำบลพระเจดีย์ ขณะที่ผ่านบ้านหลังหนึ่ง ก็ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้เศร้าโศกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็มีเสียงหัวร่อต่อกระซิก โดยไม่เห็นตัวเจ้าของเสียง ก็มีความสงสัยจึงแวะถามชาวบ้านใกล้เคียงว่า หญิงผู้นั้นร้องไห้รำพันถึงผู้ใด ชาวบ้านก็บอกว่าสามีของหญิงผู้นั้นถึงแก่ความตาย นางจึงร้องไห้รำพันถึงสามี เมื่อเปาบุ้นจิ้นกลับมาถึงที่ว่าการแล้ว ก็ให้คนใช้ไปตามตัวหญิง ผู้นั้นมาสอบถาม
ก็ได้ความว่าชื่อ นางอาหงอ สามีของนางป่วยอยู่ประมาณหนึ่งเดือน ให้หมอมารักษาหลายรายก็ไม่หาย จนบัดนี้ถึงแก่ความตายไป เหลืออยู่แต่บุตรชายคนเดียว ไม่มีผู้ใดจะช่วยทำมาหากินเลี้ยงบุตร จึงรู้สึกเศร้าโศกนัก
เปาบุ้นจิ้นพินิจพิศดูนางอาหงอแล้ว สังเกตุเห็นว่ายังผัดหน้าทาแป้งเป็นนวล ผมก็หวีเกล้ามวยใส่น้ำมันเรียบร้อยสวยงาม ไม่สมกับที่มีความเศร้าโศกเสียใจอาลัยสามี จึงสั่งให้ ตันเสียง ซึ่งเป็นกำนันนายบ้านตำบลนั้น ไปขุดเอาศพสามีของนางอาหงอมาพิสูจน์ ให้รู้ว่าตายด้วยเหตุใด ตันเสียงก็ไปปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ได้พิจารณาภายนอกแล้ว ก็ไม่เห็นมีบาดแผลหรือ ร่องรอยสิ่งใด ที่จะทำให้ตายได้ ก็มารายงานให้เปาบุ้นจิ้นทราบ
แต่เปาบุ้นจิ้นยังไม่หายสงสัย เพราะติดใจเสียงหัวเราะของภรรยาผู้ตาย ว่าไม่มีความเศร้าโศกจริง จึงแกล้งคาดคั้นตันเสียงว่าต้องตรวจดูให้ละเอียดถี่ถ้วน ทั้งภายนอกภายใน ให้รู้สาเหตุของการตายให้แน่ชัดภายในสามวัน มิฉะนั้นจะทำโทษให้จงหนัก
วันรุ่งขึ้นตันเสียงก็มาคำนับแจ้งความแก่เปาบุ้นจิ้นว่า ได้ตรวจพบเหล็กตะปูในรูจมูกของผู้ตายสองอัน ซึ่งมีคนตอกจนถึงแก่ความตาย เปาบุ้นจิ้นก็ให้ผู้คุมไปนำตัวนางอาหงอมาไต่สวนทันที มาถึงเปาเล่งถูก็ถามว่า
“…..เจ้าเป็นหญิงนอกใจผัว ไปกระทำชู้แก่ผู้ใด จึงได้ฆ่าสามีของตัวเสียฉะนั้น จงให้การรับเสียโดยดี อย่าให้ต้องผูกเฆี่ยนตีให้สาหัสเลย…..”
นางอาหงอแลเห็นเครื่องจองจำ ที่เตรียมไว้สำหรับลงโทษจำเลยปากแข็งมีความกลัว จึงให้การรับสารภาพเป็นสัตย์ว่า ได้กระทำชู้ด้วย เตียต๋อ แล้วเอาตะปูตอกรูจมูกสามีถึงแก่ความตายจริง เปาบุ้นจิ้นจึงพิพากษาให้ประหารชีวิตนางอาหงอ ส่วนเตียต๋อชายชู้นั้นเนรเทศไปเป็นพลทหารอยู่หัวเมืองไกล
แล้วเปาบุ้นจิ้นก็เรียกตัวตันเสียงมาสอบถามอีกว่า การชันสูตรศพจนได้พบตะปูที่รูจมูกผู้ตายนี้ เป็นความคิดของตนเอง หรือได้อุบายมาจากผู้ใด ตันเสียงก็ขยายความให้ฟังว่า เมื่อตนได้รับคำสั่งจากท่านเปาบุ้นจิ้นแล้ว กลับไปบ้านก็มีความวิตกอย่างยิ่ง ว่าจะต้องได้รับโทษเพราะไม่รู้ว่าจะหาวิธีพิสูจน์อย่างไร นางอาเอี๋ยน ผู้เป็นภรรยาจึงไต่ถามว่ามีความวิตกสิ่งใด ตนก็เล่าให้ภรรยาฟังถึงเรื่อง ที่ถูกเปาบุ้นจิ้นคาดโทษไว้ ให้ชันสูตรศพสามีนางอาหงอให้ได้ความจริงให้ได้ภายในสามวัน แต่พิจารณาแล้วก็ไม่เห็นมีสิ่งใดเป็นที่สำคัญเลย
นางอาเอี๋ยนจึงบอกว่า
“….ธรรมดาหญิงซึ่งนอกใจสามีมิให้ผู้ใดล่วงรู้นั้น ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังผู้หลักผู้ใหญ่เล่าบอกไว้ว่ามักเอาเหล็กตะปูตอกเข้าที่ รูจมูก เมื่อเวลานอนหลับไม่รู้สึกตัว ก็คงจะถึงแก่ความตาย ท่านจงไปชันสูตรดูเถิดก็คงจะพบเห็นสิ่งสำคัญเป็นแน่…..”
ตันเสียงจึงได้ไปตรวจดูที่ศพอีกครั้ง แล้วก็ได้ความจริงดังนั้น เปาบุ้นจิ้นก็ถามต่อไปอีกว่า
“……นางอาเอี๋ยงภรรยาของท่านคนนี้ เดิมเป็นสาว หรือเป็นแม่หม้าย ท่านจึงได้มาเป็นภรรยา…..”
ตันเสียงก็บอกว่าเป็นแม่หม้ายผัวตาย เปาบุ้นจิ้นก็บอกว่า
“…..ภรรยาของท่านมีความชอบ ท่านจงตามตัวมา เราจะรางวัลให้…..”
ตันเสียงก็ไปพาตัวนางอาเอี๋ยงมา เปาบุ้นจิ้นก็ให้รางวัลตามสมควร แล้วถามว่า
“…สามีเดิมของเจ้านั้น เดิมป่วยเป็นโรคอะไร จึงได้ถึงแก่ความตาย…….”
นางอาเอี๋ยงก็ตกใจหน้าตาไม่สบายบอกว่า
“…..สามีของข้าพเจ้าเป็นลมถึงแก่ความตาย ศพนั้นฝังไว้ที่เนินข้างทิศใต้นอกเมือง…..”
เปาบุ้นจิ้นก็ให้นางอาเอี๋ยง นำคนใช้ชื่อ อ๋องเหลียง ไปขุดศพนั้นขึ้นมาพิสูจน์อีกครั้ง นางอาเอี๋ยงก็ชี้ที่ให้อ๋องเหลียงขุดศพสามีขึ้นมาชันสูตร ก็หาเห็นมีสิ่งใดเป็นพิรุธไม่ นางอาเอี๋ยงจึงว่า
“…..คำเล่าลือกันว่า เปาเล่งถูเป็นผู้สอดส่องรู่เหตุการณ์ คดีทั้งสามภพ มาบัดนี้มาคุ้ยเขี่ยหาความให้แก่เรา ก็ไม่ได้ความจริง…..”
ทันใดนั้นก็มีผู้เฒ่าคนหนึ่ง อายุประมาณสักเจ็ดสิบปี มือถือไม้เท้าเดินผ่านมาทางนั้น จึงเข้ามาถามอ๋องเหลียงว่า
“….ท่านมาทำการสิ่งใดหรือ….”
อ๋องเหลียงก็เล่าความซึ่งเปาบุ้นจิ้นใช้มานั้น ให้ฟังทุกประการ ผู้เฒ่าจึงบอกว่า
“…..นางอาเอี๋ยงลวงท่านไปขุดศพของผู้อื่น หาใช่ศพของสามีนางอาเอี๋ยงไม่ข้าพเจ้าจะนำชี้ให้ท่านขุด…..”
ว่าแล้วผู้เฒ่าก็เดินนำอ๋องเหลียง ไปขุดศพสามีของนางอาเอี๋ยงขึ้นมาพิสูจน์ ก็พบเหล็กตะปูสองอันคาอยู่ในรูจมูก อ๋องเหลียงจึงเก็บตะปูนั้นไว้เป็นหลักฐาน แล้วคุมตัวนางอาเอี๋ยงมาแจ้งให้เปาบุ้นจิ้นได้ทราบทุกประการ
นางอาเอี๋ยงจำนนต่อหลักฐาน จึงต้องยอมรับสารภาพว่า ตนได้ประทุษร้ายต่อสามีเดิมจริง เปาบุ้นจิ้นจึงตัดสินลงโทษ ให้ประหารชีวิตนางอาเอี๋ยงให้ตายตกไปตามกันเสียอีกรายหนึ่ง
ความซวยจึงตกอยู่กับ ตันเสียง นายบ้านผู้โชคร้าย ที่ได้ทำความชอบ แต่กลับต้องเสียภรรยาไปตามกฎหมายของบ้านเมือง แต่ก็ไม่แน่เขาอาจจะดีใจที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยไม่ถูกตะปูตอกรูจมูกเช่นสามีเก่า ก็ได้
ด้วยความเอาใจใส่ต่อหน้าที่ และปฏิบัติราชการด้วยความระเอียดรอบคอบ ประกอบไปด้วยความเที่ยงตรง ไม่เอนเอียงเข้าข้างผู้ใด ท่านเปาบุ้นจิ้นจึงได้รับความนับถือ ยกย่องว่าเป็นผู้ผดุงความยุติธรรมมาเป็นเวลานับพันปี
ซึ่งท่านผู้อ่านในวันนี้ ก็คงจะเห็นพ้องด้วยทุกท่าน อย่างแน่นอน.
วารสารวสรรพาวุธ
กันยายน ๒๕๓๙
เล่าเซี่ยงชุน