บันทึกเดินทาง โครงการช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติปีที่ 6
“ถ้าไม่มีสมเด็จพระเทพฯ ในวันนั้น ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เด็กพวกนี้ถึงจะได้เรียนหนังสือ”
“ครูเจ๋ง” ครูบนดอยผู้เสียสละถ่ายทอดเรื่องราวให้เราฟังขณะขับรถพาคณะของเราลงมาจากเขา จากถิ่นที่ทุรกันดารที่สุด ลงมาสู่ตัวอำเภอท่าสองยางที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ร้านสะดวกซื้อ และถนนราดยาง แถมสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังชัดแจ๋ว
ภาพบนดอยยังคงแจ่มชัดไม่เลือนหายไปจากความทรงจำของเรา แววตาที่ใสซื่อบริสุทธิ์ของชาวไทยภูเขา (หรือชนกลุ่มน้อยที่คนเมืองมักจะเรียกกัน) ที่เปล่งประกายไปด้วยความปิติยินดี เมื่อคณะของเรานั่งรถข้ามเขาเลาะไปตามถนนดินแดงนานเกือบชั่วโมง เข้าไปสู่พื้นที่ที่น้อยคนนักจะได้เข้าไปถึง ไฟฟ้าไม่มี น้ำประปาก็ไม่มี สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตไม่ต้องพูดถึง สองคำหลังไม่มีอยู่ในศัพทานุกรมของพื้นที่นี้อย่างแน่นอน
“ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา ‘แม่ฟ้าหลวง’ บ้านขุนห้วยนกกก ในพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” คือชื่อเต็มของอาคารไม้ชั้นเดียวที่ตั้งอยู่บนยอดเขาซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามสุดลูกหูลูกตา ครูสาวผู้เสียสละยิ่งสองท่านยืนรอพวกเราพร้อมกับเด็กๆ แววตาเปี่ยมไปด้วยความสุข ไม่ต่างจากแววตาของพวกเราเมื่อได้เดินทางมาถึงสถานที่แห่งนี้เท่าใดนัก จากคำบอกเล่าของคุณครู เด็กเหล่านี้คือชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน (ทางหลวงหมายเลข 105 ที่พาพวกเรามาที่นี่แทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเส้นแบ่งเขตแดน) การจัดการเรียนการสอนของพื้นที่นี้ (หมายถึงโรงเรียนบนดอยทุกโรงเรียน) จึงต้องสังกัดอยู่กับหน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียน มิได้สังกัดอยู่กับสำนักงานพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่อย่างใด นักเรียนเหล่านี้จึงไม่ได้รับสิทธิ์หลายประการที่ “เด็กไทย” ใน “โรงเรียนไทย” ได้รับ อาทิ หนังสือเรียนฟรี และจำนวนครูผู้สอนที่เพียงพอ
การพัฒนาพื้นที่ของชาวไทยภูเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ นั้น จึงไม่ใช่แค่การฝึกอาชีพและสร้างที่ดินทำกินให้แก่เพื่อนร่วมแผ่นดินของเราเท่านั้น หากแต่ลูกหลานของพวกเขาเหล่านั้นจะต้องได้เรียนหนังสือ เพื่อที่จะได้อาศัยอยู่ร่วมกับพวกเราได้อย่างมีความสุข
“สองสามเดือนก็ลงไปทีหนึ่งค่ะ ส่วนของจากข้างล่างก็จะมาส่งพวกเราเดือนละครั้ง” คุณครูบอกกับพวกเรา
นั่นคือเหตุผลที่พวกเราต้องขึ้นมาที่นี่ ไม่ใช่เพื่อผัดไทยหนึ่งหม้อ หนังสือกองโต และเสื้อผ้าหลายลังเท่านั้น แต่เพื่อต่อเติมกำลังใจให้แก่ข้าราชการครูผู้เสียสละ ปิดทองหลังพระ สร้างคนเพื่อสร้างชาติให้แก่พวกเราซึ่งอยู่ในเมือง รวมไปถึงการแบ่งปันความสุขเล็กๆน้อยๆให้กับน้องๆที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ห่างไกล
“นี่ดอยนี้สบายแล้วนะครับ ยังมีดอยอื่นๆอีก ไม่ใช่เด็กไทยซักกะดอย”
เราตระหนักมากขึ้น ถึงการ “เข้าใจ – เข้าถึง – พัฒนา” ซึ่งเป็นแนวนโยบายอันจำเป็นยิ่งในการพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่บ้านเมืองของเราอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ผม (ผู้เขียน) ลงจากอำเภอท่าสองยาง มาถึงอำเภอแม่สอด เขตเศรษฐกิจใหม่สุดแสนจะคึกคักที่กำลังจะก้าวไปมีบทบาทเป็นเขตการปกครองพิเศษ และประตูทางการค้าที่สำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีหน้า เพียงหนึ่งชั่วโมงจากสถานที่นั้น ทุกอย่างไม่มีอะไรเหมือนกัน
ก่อนที่เครื่องบิน ATR72-500 จากท่าอากาศยานแม่สอดจะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ผมมองลงไปยังแนวเขาเขียวชอุ่มทางด้านซ้าย เพียงหวังจะเห็นยอดเขาลูกใดลูกหนึ่งที่เราจากมา
และสัญญาว่า ปีหน้าเราจะพบกันอีก
[smart-grid button_text=”ดูเพิ่ม” lightbox=”magnific-popup” title=”false”]
[/smart-grid]
รายชื่อผู้ร่วมบริจาคสนับสนุนโครงการแบ่งปัน น้ำใจช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ รวมยอดเงินบริจาคทั้งสิ้น 13,400 บาท และ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม สื่อและอุปกรณ์การเรียน หนังสืออ่านนอกเวลา ของเล่น ขนม หนังสือสามก๊ก การ์ดตัวละครสามก๊ก อุปกรณ์ทางการแพทย์
1. แอดมินเคน ผู้ก่อตั้งไทยสามก๊ก และครอบครัว
2. แอดมินเมษ์ ที่ปรึกษาไทยสามก๊ก และครอบครัว
3. แอดมินหนุ่ย ที่ปรึกษาไทยสามก๊ก และเพื่อนร่วมงานในแผนกIT
4. แอดมินรอท หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมนอกสถานที่
5. แอดมินเบ หัวหน้าฝ่ายดูแลกิจกรรมทั่วไปไทยสามก๊ก
6. แอดมินต้นคูน หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ไทยสามก๊ก
7. แอดมินแทน หัวหน้าฝ่ายเกมส์ไทยสามก๊ก
8. แอดมินเป๊ป หัวหน้าฝ่ายศิลป์ไทยสามก๊ก
9. สำนักพิมพ์ดอกหญ้า
10. คุณจอย สมาชิกจากทางบ้าน
11. คุณโม สมาชิกจากทางบ้าน
12. คุณคี้ จาก บริษัท วันมงคล จำกัด
13. บริษัท บิ๊กแมนสปอร์ต จำกัด
14. คุณหุย ,เพื่อน และ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
15. คุณ ธาริดา วิริยันต์เมฆ สมาชิกจากทางบ้าน
16. อ.โอ๋ จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
17. คุณ ชัยณรงค์ ผู้จัดการใหญ่ เซี่ยงกี่การพิมพ์
18. คุณโบว และครอบครัว
19. บริษัท Mind games TKTCG และ ร้าน Meta games
20. สมาชิกเว็บไซต์ไทยสามก๊กทุกท่าน ที่ได้สั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ไทยสามก๊ก